ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

5 คุณสมบัติที่ต้องมีของ เจ้าของตลาดนัด

20 มิถุนายน 2560

         คงมีหลายคนไม่น้อยเลยที่ใฝ่ฝันว่าอยากจะเปิดตลาดเป็นของตัวเอง ThaiSMEsCenter.com ได้มีโอกาสพูดคุยกับ เจ้าของตลาดนัด หลายรายที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาเหล่านั้นได้บอกเล่าถึงคุณสมบัติพื้นฐานที่ เจ้าของตลาดนัด ควรจะมีในการจัดตั้งและดำเนินธุรกิจตลาด ซึ่งวันนี้ เราได้นำมาเสนอแก่ผู้ที่สนใจ โดยแบ่งไว้เป็น 5 ข้อดังนี้ค่ะ

1. มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับตลาด
         ก่อนจะมาเปิดตลาดเป็นของตัวเองและดำเนินการให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้ที่จะเป็น เจ้าของตลาดนัด นั้นจะต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดมากพอ ต้องคลุกคลีหรือมีความคุ้นเคยกับตลาดมาก่อน รวมถึงต้องใช้เวลาศึกษาเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับตลาดให้ลึกซึ้งด้วย เพราะทุกรายละเอียดนั้นมีความสำคัญ
         เจ้าของตลาดนัด ที่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดนั้นมักจะทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาจะเดินสำรวจตลาดหลายๆ แห่ง ลองไปเป็นลูกค้าของตลาดนั้นๆ เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูล นำเอามาเป็นแนวทางและปรับใช้กับตลาดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกฎระเบียบ หรือสภาพแวดล้อมต่างๆ
         นอกจากนี้ เจ้าของตลาดที่ประสบความสำเร็จบางคนยังเคยเป็นพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของในตลาดมาเป็นระยะเวลานานมาก่อน จึงทำให้พวกเขาเข้าใจและมีความรู้เกี่ยวกับการค้าขายและภาพรวมในตลาดเป็นอย่างดี

“ควรศึกษาวิธีการ และระเบียบขั้นตอน
การขออนุญาตหน่วยงานต่างๆ 
ในการจัดตั้ง ตลาดนัด ให้ถูกต้องตามกฎหมาย”

         นอกไปจากเรื่องขององค์ประกอบโดยรวมของตลาดที่จะต้องรู้เป็นอย่างดีแล้ว เรื่องของวิธีการขออนุญาตหน่วยงานเพื่อก่อตั้งตลาดนั้นก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขั้นตอนในการเตรียมการ หรือการดำเนินการเอกสารต่างๆ ให้ถูกต้องตามข้อกำหนด

2. มีสิ่งเกื้อหนุน
         สิ่งที่เกื้อหนุนในที่นี้หมายถึงพวกพ้อง หรือพ่อค้าแม่ขายที่คุณรู้จัก สามารถชักชวนให้พวกเขามาค้าขายในตลาดของคุณได้ เพราะหากจัดตั้งตลาดขึ้นมาเรียบร้อยแล้วแต่ไม่มีพ่อค้าแม่ขายมาเช่าพื้นที่เพื่อตั้งแผงขาย ไม่มีคนมาเดินซื้อของ ตลาดก็จะไม่เรียกว่าตลาด ทุกอย่างที่ทำมาก็ถือว่าจบ ฉะนั้น การที่ผู้ที่จะมาเป็นเจ้าของตลาดจะต้องรู้จักคนให้มากจึงเป็นเรื่อที่สำคัญเลยทีเดียว
         ถ้าหากไม่รู้จักผู้คนที่มากพอ ก็จะต้องรู้จักวิธีการกระจายข่าว หรือวิธีที่จะสามารถเรียกให้พ่อค้าแม่ขายมาจับจองพื้นที่ในตลาดของคุณได้ อาจจะเลือกใช้วิธีส่งเสริมการตลาดทางใดสักทางหนึ่งที่เหมาะสม เพราะตลาดเปิดใหม่นั้นย่อมยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก

3. มีเงินและรู้จักวางแผนการลงทุน
         แน่นอนว่าการจะลงทุนทำอะไรนั้นก็จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทั้งนั้น เจ้าของตลาดจึงต้องมีความพร้อมในเรื่องของเงินที่จะเอามาลงทุน  รวมถึงต้องรู้จักวิธีวางแผนที่จะนำเงินมาใช้ในการลงทุนอย่างรัดกุมด้วย  ไม่ว่าจะเป็นเงินที่จะนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างต่างๆ หรือค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลการฝ่ายต่างๆ ที่จะมาทำหน้าที่ในตลาด และเงินที่จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายสำรองหรือเพื่อใช้กับการปรับปรุงตลาดในอนาคตด้วย
         เมื่อมีเงินและมีการวางแผนควบคุมเงินในการลงทุนที่ดีแล้ว ก็จะไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงหรือปัญหางบบานปลายตามมา

4. มีทำเลที่ดี
         การจะเป็นเจ้าของและสร้างตลาดให้สำเร็จได้นั้น ต้องรู้จักวิเคราะห์ทำเลให้เป็นด้วย พื้นที่ในการสร้างตลาดที่จะดึงดูดผู้คนให้ไหลมาเทมาได้นั้นจะต้องอยู่ท่ามกลางชุมชน ที่พักอาศัย สถานศึกษา หรือสำนักงานต่างๆ รวมถึงจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีการคมนาคมสะดวกสบาย
         เจ้าของตลาดจึงต้องวิเคราะห์และเสาะหาทำเลที่เหมาะสมให้ได้ เพราะหากเลือกทำเลในการสร้างตลาดโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้แล้ว ตลาดก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ
         นอกจากจะต้องเลือกทำเลที่ดีแล้ว เจ้าของตลาดยังต้องคำนึงถึงผลกระทบในวงกว้างด้วยว่า พื้นที่ที่จะก่อตั้งตลาดขึ้นมานั้นจะส่งผลกระทบหรือทำให้สังคมเดือดร้อนหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของปัญหาการจราจร ซึ่งต้องวางแผนวิธีการในการแก้ไขปัญหาด้วย

5. มีความเป็นผู้นำ
         เจ้าของตลาดที่ดีจะต้องมีภาวะของการเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจและเด็ดขาด รวมถึงต้องวางแผนและมอบหมายงานแก่บุคลากรในแต่ละฝ่ายให้เป็น เพราะปัญหาย่อมเกิดขึ้นในตลาดได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากพ่อค้าแม่ค้า หรือลูกค้า เจ้าของตลาดต้องมีวิธีการที่จะรับมือและมีมาตรการในการป้องกัน รวมถึงกำหนดกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างพร้อมเพียงกันของคนในตลาดด้วย

“เจ้าของตลาดที่ดี จะต้องมีภาวะของการเป็นผู้นำ
กล้าตัดสินใจและเด็ดขาด”

         มากไปกว่านั้นยังต้องเรียนรู้ที่จะปรับปรุงและพัฒนาตลาดให้ดีและมีคุณภาพอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้ตลาดมีความก้าวหน้า เป็นที่สนใจและดึงดูดกลุ่มลูกค้า รวมถึงทำให้ตลาดเป็นที่ไว้วางใจของพ่อค้าแม่ค้าให้มาตั้งแผงค้าขายอย่างถาวรหรือเป็นประจำอีกด้วย

         การสร้างตลาดนั้น ไม่ใช่ว่าสร้างเสร็จแล้วจะถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะเจ้าของตลาดยังต้องเรียนรู้และดำเนินงานต่อไปอีกเรื่อยๆ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเป็นตัวตัดสิน

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.thaismescenter.com
 

Share