Home / Seminar

คุยกับ ยรรยง บุญ-หลง การขับเคลื่อนเมืองด้วยอสังหาริมทรัพย์ (และคนโสด)

  • กิจกรรมภายในสมาคมฯ

    29 มิถุนายน 2560 09:00 น. - 29 มิถุนายน 2560 21:00 น.

  • Centerpoint Stuio

  • จำกัดจำนวน 800 ท่าน

เรานัดกับคุณยรรยง บุญ-หลง นักวิชาการผู้เคยเสนอแนวคิดเชื่อมระบบคลองกับรถไฟฟ้า เพื่อพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเมือง ตามกระแสพัฒนาเมืองที่กำลังเป็นที่พูดถึงในช่วงนี้

TREA : ช่วงปีที่ผ่านมานี้ มีการพูดถึง “การพัฒนาเมือง” กันมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพและภูมิภาค ดูเหมือนทุกคนจะมุ่งไปในด้านการพัฒนาขนส่งมวลชน แต่ไม่ทราบว่ามีมิติอื่นอีกไหมที่ชี้วัดคำว่าการพัฒนา จนไปสู่ปลายทางคือเมืองที่ดีขึ้น คุณยรรยงคิดว่า เมืองที่ดีควรเป็นอย่างไรครับ
ยรรยง : ต้องเริ่มจากการดึงคนเก่งเข้าเมืองให้ได้ก่อน ตอนนี้คนเก่งๆ มักจะไปกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ๆ อย่าง กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ หาดใหญ่ หรือบางคนอาจจะไปทำงานอยู่ต่างประเทศเลยก็มี

TREA : ฟังดูเหมือนง่าย แต่ควรต้องทำยังไงครับ
ยรรยง : สิ่งหนึ่งที่จะดึงดูดคนเก่งเหล่านี้ให้อยากมาอยู่ในเมืองใหม่ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในใจกลางเมืองก็คือ

1.  เก็บภาษีเข้าเมือง (ไม่เข้าส่วนกลาง) เพื่อดึงดูดบริษัทชั้นนำ เข้ามาตั้งอยู่แถวนั้น

เราอาจจะใช้วิธีเก็บภาษีบริษัทเข้าเมืองๆ นั้นเลย แทนที่จะเก็บภาษีเข้า “ส่วนกลาง” ซึ่งมันมักจะไม่กลับมา (หัวเราะ) ทำประโยชน์กับเขาอีก… แต่ถ้าเก็บภาษีเข้าเมืองที่ตั้งของบริษัท ภาษีอันนี้ก็สามารถนำมาพัฒนาสาธารณูปโภครอบๆ บริเวณบริษัทได้ พัฒนาโรงเรียนสาธารณะให้ดีได้ ….

2. ทำโรงเรียนสาธารณะให้ดี (สอนเป็นภาษาอังกฤษ) เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่

เมื่อเก็บภาษีเข้าเมืองๆ นั้นได้ ก็เอาภาษีไปสร้างโรงเรียนดีๆ ได้ จ้างครูที่สอนเป็นภาษาอังกฤษได้ ….แต่จะเรียนฟรีได้ก็ต่อเมื่อมีบ้านอยู่ในย่านนั้น  

แล้วเมืองแต่ละเมืองจะเริ่มแข่งกันดึงคนเก่ง ดึงบริษัทชั้นนำเข้าเมืองเอง เพราะภาษีถูกเก็บเข้าเมือง

ในย่าน Silicon Valley ก็ทำเช่นนี้ คือเขาทำโรงเรียนเทศบาลให้ดีมากๆ แล้วคนก็จะย้ายมาซื้อบ้านและคอนโดฯ ในย่านนั้น เพราะราคาผ่อนบ้านในระยะยาวมันถูกกว่าราคาโรงเรียนอินเตอร์ฯ (เอกชน) ในระยะยาวมาก คนที่นั่นจะยอมอยู่ย่านแพงที่โรงเรียนเทศบาลดี (และฟรี) มากกว่าที่จะอยู่ย่านถูกแล้วต้องจ่ายค่าโรงเรียนเอกชน

ในบรรดาผู้ก่อตั้งบริษัทระดับโลกใน Silicon Valley นั้น ส่วนใหญ่ก็เรียนโรงเรียนเทศบาล (ฟรี) มาก่อน อย่างเช่น Steve Jobs กับ Steve Wozniak ผู้ก่อตั้ง Apple เรียนที่โรงเรียนเทศบาลชื่อ Homestead High School ส่วน Steve Chen ผู้ก่อตั้ง You Tube เรียนโรงเรียนเทศบาลชื่อ Illinois Mathematics and Science Academy และ Jerry Yang ผู้ก่อตั้ง Yahoo! (และหนุนการเกิดของ Alibaba) ก็เรียนที่โรงเรียนเทศบาลชื่อ Sierramont Middle School และ Piedmont Hills High School

TREA : เหมือนว่าจะต้องพึ่งนโยบายภาครัฐ?
ยรรยง : ถ้ารัฐไทยยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลงระบบการเก็บภาษีเพราะติดกฏหมายเก่าๆ….ยุทธศาสตร์นี้ก็ยังทำได้โดยเอกชนทางฝั่งอสังหาฯ ….อาจจะทำเองก็ได้ โดยสร้างโรงเรียนอินเตอร์ฯ สร้างห้องสมุดแบบ TK Park หรือ TCDC ในบริเวณโครงการ ขึ้นมาเป็นตัวดึงดูดคน

แล้วถ้าลูกค้าซื้อบ้าน-คอนโดฯ ในโครงการ (หรือในเครือข่ายโครงการของสมาคม) ก็สามารถเรียนฟรีได้ อันนี้ต้องลองทำ feasibility study ดูว่า “ฟรี” ได้จริงไหม หรือต้องจ่ายเป็นบางส่วนที่ไม่แพง ….หลักๆ คือทั้งหมดเบ็ดเสร็จแล้ว มันต้องถูกกว่า “ราคาเวลา” ที่ผู้ปกครองต้องเดินทางไปโรงเรียนไกลๆ และราคาโรงเรียนอินเตอร์ฯ ในระยะยาว ต้องคำนวณให้เขาเห็นชัดๆ

นอกจากนี้แล้ว คนโสดก็ต้องการพื้นที่เจอคนใหม่ๆ จะรู้จักกับคนใหม่ๆ ได้มันต้องทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ใช่แค่ไปเดินช๊อปปิ้ง หรือกินกาแฟ ….

TREA : เริ่มใกล้ตัวคนรุ่นใหม่มากขึ้นนะครับ
ยรรยง : ใช่ สังเกตไหมครับ ว่าหลังจากจบมหาลัยฯ ไปแล้วเราหาแฟนยากขึ้นมากเลย นั่นเป็นเพราะเราไม่มีกิจกรรมที่ต่อเนื่องที่ทำกันกับเพื่อนๆ ไม่มีพื้นที่กลาง อย่างโรงอาหาร หรือห้องสมุด ที่สามารถพบปะคนใหม่ๆ ได้  และไม่มีข้ออ้างที่จะเข้าไปคุยกับเขาว่า “โปรเจกที่เราทำร่วมกันอยู่นั้น ต้องส่งอาทิตย์หน้าแล้วนะ มานั่งระดมสมองกันไหมเย็นนี้” เป็นต้น …ทางกลุ่มอสังหาฯ ควรสร้างพื้นที่แบบนี้ขึ้นมาเป็นตัวดึงคนโสดให้มาเจอกัน

TREA : ขอถามเรื่องกระแส Startup หรือ Creative economy ที่รัฐกำลังผลักดัน รวมทั้งกำลังเป็นเรื่องที่คนรุ่นใหม่สนใจในขณะนี้ ในความคิดของคุณยรรยง เรื่องดังกล่าวเป็นความหวังแก่อนาคตได้หรือไม่ครับ และหากนำมาเชื่อมโยงกับการพัฒนาเมือง หรือแม้แต่พัฒนาประเทศ เราจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้อย่างไรดีครับ
ยรรยง : เป็นเรื่องที่ดีมากที่รัฐเริ่มคิดเรื่องการสร้างคนแบบนี้… แต่เราไม่ควรทำแบบเกาหลี สิงคโปร์ หรือฮ่องกง นะ …เราต้องสร้างคนเก่งที่กล้าคิดแหวกแนว ต้องสร้างคนเก่งที่กล้าถกเถียงและล้มล้างทฤษฎีเก่าๆ  (ไม่ใช่สอบคะแนนสูงอย่างเดียว) ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีพวกเด็กหัวกบฏเหล่านี้เยอะมากในเมืองไทย (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน…. เราต้องสนับสนุนให้พวกเขากล้าเถียงผู้ใหญ่ กล้าล้มทฤษฎีเก่าๆ มันถึงจะมี breakthrough ใน creative economy ได้

TREA : คือคำว่า Disruption?
ยรรยง : ใช่ ผมจะเล่าสิ่งที่คนไม่ค่อยรู้คือ Albert Einstein ในวัยหนุ่มนั้นอยู่ในกลุ่มพวกอนาธิปไตย และอยู่ในแวดวงคอมมิวนิสต์ จนทำให้หน่วยงาน FBI เกือบไม่ให้ผ่านเข้าอเมริกาแล้ว ดูเหมือนว่าความกล้าในการข้ามพ้นทฤษฎีเก่าๆ ในวิทยาศาสตร์จะเชื่อมโยงกับความเป็นกบฏทางสังคมด้วย แต่ทางสหรัฐก็เลือกที่จะมองข้ามเรื่องเหล่านี้ แม้ว่าทาง FBI จะจับตามองงานเขียนเชิงสังคมของไอน์สไตน์อย่างใกล้ชิดก็ตาม ทางหน่วยงานก็ไม่ได้เซ็นเซอร์ไม่ให้เขาพูดแต่อย่างได้ (เพราะอยากรู้)

เราควรเริ่มตั้งศูนย์ coding หรือศูนย์ที่ค้นคว้าทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ พวก algorithm ก่อน เพราะว่าต้นทุนของคณิตศาสตร์นั้นต่ำ มีโต๊ะ มีกระดาษ มีเก้าอี้ (และกาแฟ) ก็พอทำได้แล้ว เสร็จแล้วก็สามารถจดสิทธิบัตรขายต่อได้

เราต้องพยายามดึงคนเก่งทางด้านนี้มากวิจัย จากอเมริกา อินเดีย จีน หรือประเทศอื่นๆ ก็ได้ …คนโสดเหล่านี้แน่นอนต้องการพื้นที่เจอคนใหม่ๆ

จริงๆ แล้ว Rockefeller Foundation ก็ใช้วิธีนี้ในการตั้ง Institute for Advance Study ที่ Princeton ผู้ก่อตั้งรู้ดีว่าการเริ่มจาก “นักคิด” นักคณิตศาสตร์อย่าง John von Neumann หรือ Albert Einstein นั้น ไม่ต้องจ่ายค่าอุปกรณ์มากก็สามารถสร้าง Breakthrough ใหม่ๆ ได้แล้ว เอางบประมาณค่าอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี ไปจ่ายค่าตัวคนเก่งแพงๆ ดีกว่า

TREA : ถ้าหากเรื่อง “คน” เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนา แต่แน่นอนว่า มันจะมีคนที่พร้อมที่จะไปข้างหน้าพร้อมๆ กับสังคม แต่ก็ยังมีคนอีกไม่น้อย ที่อาจจะไม่พร้อมหรือไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรบางอย่างได้ (เช่น คนด้อยโอกาส คนยากจน) เราจะใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยี ไปช่วยเหลือผู้คนได้หรือไม่ อย่างไร ครับ

ยรรยง : ถ้าสามารถเก็บภาษีเข้าเมืองได้ เราก็สามารถสร้างโรงเรียนสาธารณะดีๆ ที่ฟรีได้ (แต่ต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษนะ) การเข้าถึงไอเดียใหม่ๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องใช้ภาษาที่คนส่วนใหญ่เขาใช้กันอยู่ การเรียนการสอนที่ใช้ภาษาที่เยาวชนสามารถไปค้นหาข้อมูลทั่วโลกเองได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ (โดยเฉพาะเยาวชนที่ไม่รวย) และเป็นจุดเริ่มต้นของความอยากรู้อยากเห็น และการวิจัย

ภาษาอังกฤษ เป็นเสมือนตัวเชื่อมสาขาวิชาต่างๆ ทั่วโลกให้สามารถมาเจอกันได้ ไม่ต่างจากสมัย 2,000 กว่าปีที่แล้วในยุคที่ภาษาสันสกฤตริเริ่มเป็นภาษากลางของโลกนักคิด และเป็นต้นแบบให้ภาษากรีก ภาษาลาติน และภาษอังกฤษในปัจจุบัน

เราไม่ควรจะยึดติดว่าภาษากลางของโลกเป็นภาษาไหน (เพราะมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา) แต่เราควรเน้นการสร้างโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงข้อมูลใหม่ๆ ที่มีอยู่ทั่วโลกมากกว่า และในยุคปัจจุบันข้อมูลเหล่านั้นยังอยู่ในภาษาอังกฤษ

สุดท้ายแล้ว ผมมองว่าโครงการและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ตึกหรืออาคารนะ… แต่มันคือ platform สำหรับการพบปะและสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดอายุ

 

 

มาฟังไอเดียการพัฒนาเมือง อสังหาริมทรัพย์ และอนาคตของประเทศไทย งานสัมมนาใหญ่ประจำปีของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ในรูปแบบ Creative Talks "TREA TALKS Real Estate 2017 – Future Thailand: ประเทศไทย 4.0 ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ไม่ต้องทิ้ง ใครไว้ข้างหลัง” ในวันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน 2560 นี้ ที่เซ็นเตอร์พ้อยท์ สตูดิโอ กรุงเทพฯ มาร่วมแชร์ไอเดียและปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์กับ 10 Talks จาก Speakers ตัวจริงหลากหลายวงการ ที่จะมาเปิดความคิด ตั้งแต่มุมมองธุรกิจ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงระดับการพัฒนาเมือง โดยท่านสามารถลงทะเบียนเพื่อซื้อบัตรเข้าชมงาน TREA TALKS REAL ESTATE 2017, Future Thailand : ประเทศไทย 4.0 ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร....ไม่ต้องทิ้งใครไว้ข้างหลัง ได้ที่ eventpop.me สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 084-360-0438,084-360-0439 และ 092-486-2992