ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

การค้าการขายในยุค AEC: เจาะตลาดอินโดนีเซีย

05 กรกฎาคม 2560

         ประเทศไทยยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community - AEC) ที่ผู้ประกอบการเฝ้ารอมาเป็นระยะเวลาหลายปี ในที่สุดก็ถึงเวลาเปิดประตูเข้าสู่ยุคการค้าการขายที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในไตรมาสแรกของปี 2559 ทิศทางแนวโน้มธุรกิจภายในประเทศก็ยังคงไม่เติบโตมากนัก จากปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยนอกประเทศ อาทิ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาภัยแล้ง ราคายาง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ความผันผวนของค่าเงิน ราคาน้ำมัน ประกอบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก

AEC, การค้าขาย, ตลาดอินโดนีเซีย, ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

         ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำการศึกษาและสำรวจพบว่า แนวโน้มทางธุรกิจในประเทศไทยที่มีแนวโน้มดี ก็คือ กลุ่มธุรกิจการแพทย์ การสื่อสาร ธุรกิจยา เวชภัณฑ์ สมุนไพรธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ ส่วนแนวโน้มธุรกิจที่มีแนวโน้มไม่ดี ก็จะเป็นกลุ่มธุรกิจหัตถกรรม สิ่งทอผ้าผืน สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ง่ายมากนักที่ผู้ประกอบการชาวไทยจะสร้างรายได้ที่งดงามอย่างที่เคยวาดฝันไว้สำหรับยุค AEC

         โครงสร้างพื้นฐานของประเทศจะเป็นตัวส่งเสริมหลักที่สำคัญในการสร้างรากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับผู้ประกอบการไทย หากเราจะวิเคราะห์ถึงเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาจากประเทศสมาชิกก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีอย่างต่อเนื่องในปี 2559 มีการคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวไทยจะมีการขยายตัวมากกว่าในปี 2558 ที่ได้ปัจจัยบวกจากการเดินทางของนักท่องเที่ยวอาเซียน มีการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ที่มีจำนวนประชากรรวมกันสูงถึง 400 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยเป็นปลายทางที่สำคัญของคนอาเซียน ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและช้อปปิ้ง

         ดังนั้น ภาครัฐควรต้องให้ความสำคัญในการขยายฐานนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีคุณภาพ มีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยที่จะต้องดูแลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เป็นพิเศษ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งจะสามารถสร้างการเติบโตได้ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน เริ่มต้นจากการขยายตัวของตลาดอุตสาหกรรมต้นน้ำไปยังปลายน้ำเพื่อกระจายตลาดนักท่องเที่ยว โดยไม่ควรมุ่งเน้นที่ตลาดใดตลาดหนึ่งจนมากเกินไป อย่างเช่นตลาดจีน เพราะการค้าขายในยุคนี้มีความเสรีมากกว่าในอดีตการเดินทางของประชากรในประเทศสมาชิก จึงมีความสะดวกความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

         ตลาดอินโดนีเซียก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปประกอบธุรกิจ ก็เพราะว่าอินโดนีเซียเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเริ่มเป็นแหล่งลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยสามารถเห็นได้จากยอดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ที่มีอัตราเพิ่มเฉลี่ยประมาณร้อยละ 19 ซึ่งวิเคราะห์ได้จากการบริโภคภายในประเทศที่แสดงให้เห็นถึงอุปสงค์ต่อสินค้าและการบริการภายในประเทศจำนวนมหาศาลด้วยประชากรที่มีมาก โดยมีประชากรที่มีอำนาจซื้อสูงถึงกว่า 30 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 12.3 ของประชากรอินโดนีเซีย และมีกลุ่มชนชั้นกลาง 122 ล้านคน คิดเป็นร้อยละประมาณ 50 ของประชากรอินโดนีเซีย และโดยส่วนใหญ่ของสินค้านำเข้าจากประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และสินค้าอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่ม เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างอินโดนีเซียกับประเทศไทยจัดได้ว่าอินโดนีเซียจึงเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆ ของไทยในอาเซียน ซึ่งสินค้าที่ประเทศไทยนำเข้าจากอินโดนีเซีย ได้แก่ น้ำมันดิบ ถ่านหิน สินแร่ เป็นต้น

         ดังนั้น ประเทศอินโดนีเซียจึงเป็นกลุ่มตลาดที่น่าสนใจเข้าไปทำการค้า การขาย และการลงทุน สำหรับการนำสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ เพราะอินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งฐานการผลิตสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ ทักษะแรงงานที่มีศักยภาพ และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรที่จะศึกษาด้านวัฒนธรรมทั้งเรื่องการกินและความเป็นอยู่ด้วยว่า กลุ่มลูกค้าต้องการสินค้าประเภทใดมากที่สุด แล้วนิยมซื้อสินค้าอะไรมากที่สุด เพื่อจะได้ทำการค้าได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น ปัจจัยที่สำคัญคือปัจจัยด้านโลจิสติกส์ เพราะปัญหาหลักที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญก็คือการไปลงทุนผลิตสินค้าในอินโดนีเซียเพื่อพยายามจะป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ การขนส่งที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่ค่อนข้างแตกต่างกันในปัจจุบัน เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นหมู่เกาะรูปแบบการขนส่งสินค้าจึงมีขั้นตอนและกระบวนการที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในการบริหารการจัดการโลจิสติกส์สำหรับผู้ประกอบการไทยที่คิดจะไปลงทุนในอินโดนีเซียจึงจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาและวางแผนถึงปัจจัยหลักที่สำคัญนี้

         ในอนาคตโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งรูปแบบการขนส่งที่จะมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นด้วยนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นายโจโกวิโดโด ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย ที่จะพัฒนาปรับปรุงในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และจะลงทุนสร้างถนนเพิ่มอีก 2,000 กิโลเมตร ท่าเรือใหม่ 10 แห่ง ศูนย์การค้าเชิงพาณิชย์อีกกว่า 500 แห่ง รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ประปา และการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่มีในบางส่วนซึ่งยังไม่ได้มาตรฐานสากล ประกอบกับการแก้ไขระเบียบด้านการค้าการลงทุน กระบวนการทำงานในส่วนของราชการ ที่จะมีความโปร่งใส ยุติธรรม และเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุน

         นอกจากนี้ อุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำของอินโดนีเซียยังไม่เข้มแข็งนัก จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะจีนได้ย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และญี่ปุ่นเน้นให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาของภูมิภาค เพื่อเป็นฐานการผลิตเจาะตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีความต้องการยานยนต์สูง ซึ่งจะช่วยให้ไทยรักษาความเป็นหมายเลข 1 ของอาเซียนด้านยานยนต์ไว้ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.aseanthai.net

Share