ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

อุตสาหกรรมและธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนในบรูไนฯ

05 กรกฎาคม 2560

         ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ของบรูไนฯ มีมูลค่าประมาณ 51,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และประชากรมีรายได้ต่อหัว 53,100 เหรียญสหรัฐ

ลงทุนในบรูไนฯ, การลงทุนในบรูไนฯ, ลงทุนธุรกิจ, อุตสาหกรรมบรูไนฯ, บรูไนฯ, การลงทุนธุรกิจ

         เศรษฐกิจของบรูไนฯ เป็นระบบตลาดเสรีภายใต้การดูแลของรัฐ รายได้หลักของภาคส่งออกของประเทศมาจากน้ำมันประมาณร้อยละ 48 และก๊าซธรรมชาติประมาณร้อยละ 43 สินค้าส่งออกหลักของบรูไนฯ คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้บรูไนฯ เกินดุลการค้ามาโดยตลอด สินค้าส่วนใหญ่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น อังกฤษ ไทย สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และสาธารณรัฐเกาหลี ตามลำดับ สินค้านำเข้าส่วนใหญ่มาจากสิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย โดยเป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรอุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ และสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและผลไม้

         บรูไนฯ เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนักส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีสถานะเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าเพียงไม่กี่รายการ จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจมากเท่ากับประเทศสมาชิกประเทศอื่นๆ แต่แท้จริงแล้วบรูไนฯ เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านการค้าและการลงทุน แม้มีพื้นที่ประเทศเพียง 5,765 ตารางกิโลเมตร ขนาดเล็กเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ แต่บรูไนฯ เป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศถึงร้อยละ 95 ของมูลค่าส่งออกรวมของประเทศ หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของเศรษฐกิจบรูไนฯ ทั้งหมด

         นอกจากนี้ บรูไนฯ ได้รับการจัดเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยมากที่สุดในเอเชีย การเมืองมีเสถียรภาพ ประกอบกับชาวบรูไนฯ ส่วนใหญ่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และมีอัตราการรู้หนังสือสูงถึงร้อยละ 95 ของประชากรทั้งหมด เนื่องจากรัฐบาลบรูไนฯ สนับสนุนงบประมาณแก่ประชากรด้านการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้บรูไนฯ มีพื้นฐานที่แข็งแกร่งที่เอื้อให้ผู้ประกอบการไทยใช้เป็นโอกาสในการเปิดตลาดการค้าการลงทุนจากการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้

ลงทุนในบรูไนฯ, การลงทุนในบรูไนฯ, ลงทุนธุรกิจ, อุตสาหกรรมบรูไนฯ, บรูไนฯ, การลงทุนธุรกิจ

โอกาสการลงทุน
         บรูไนฯ ให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศ โดยจัดตั้ง Brunei Economic Development Board (BEDB) เมื่อปี 2545 เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่คาดการณ์ว่าจะลดปริมาณลงมากในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของบรูไนฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศภายใต้ Wawasan Brunei 2035 โดยมุ่งเน้นการรักษาระดับการจ้างงาน การเปิดตลาดธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ และการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น

         บรูไนฯ อนุญาตให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนได้เกือบทุกสาขา รวมถึงอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 100 ในทุกสาขา ยกเว้นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ และอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารแห่งชาติ ซึ่งยังต้องมีผู้ถือหุ้นภายในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 30 ในสาขาการเกษตรประมง และการแปรรูปอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนว่าสาขาใดที่ต้องมีผู้ถือหุ้นภายในประเทศ ในด้านการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติเน้นการให้สิทธิพิเศษทางภาษี เช่น ภายใต้โครงการผู้บุกเบิก (The Pioneer Status Program) บริษัทจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาถึง 8 ปี และได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงาน

         ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบรูไนฯ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทยไปยังบรูไนฯ ได้แก่ อุปกรณ์รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบน้ำตาลทราย ปูนซีเมนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากบรูไนฯ คือ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เยื่อกระดาษและเศษกระดาษผลิตภัณฑ์โลหะ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด

ลงทุนในบรูไนฯ, การลงทุนในบรูไนฯ, ลงทุนธุรกิจ, อุตสาหกรรมบรูไนฯ, บรูไนฯ, การลงทุนธุรกิจ

อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการลงทุน
ธุรกิจด้านอาหาร
         - บรูไนฯ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลก รวมทั้งสร้างแบรนด์อาหารฮาลาลของประเทศ นอกจากนี้ ประชากรบรูไนฯ ร้อยละ 66 นับถือศาสนาอิสลามส่งผลให้มีตลาดอาหารฮาลาลในประเทศขนาดใหญ่
         - รัฐบาลบรูไนฯ ส่งเสริมการลงทุนในภาคเกษตรกรรม เนื่องจากปริมาณผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับการบริโภค โดยเฉพาะการปลูกข้าว บรูไนฯ ตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตข้าวให้ได้ร้อยละ 60 ของการบริโภคในประเทศภายในปี 2558

ธุรกิจยาและเภสัชกรรม
         - บรูไนฯ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมยาและเภสัชกรรมของภูมิภาค
         - บรูไนฯ เริ่มกำหนดแนวทางและมาตรฐานด้านฮาลาลในอุตสาหกรรมยา ทั้งนี้ เมื่อปี 2553 บรูไนฯ ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งโรงงานผลิตยามาตรฐานฮาลาลแห่งแรกของประเทศในเขตอุตสาหกรรม Lambak Kanan East Industrial Site

ธุรกิจปิโตรเคมี
         - บรูไนฯ ได้ร่วมทุนกับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นจัดตั้งโรงงานผลิตเมทานอลซึ่งมีกำลังการผลิต 850,000 ตันต่อปี และเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2553 การจัดตั้งโรงงานดังกล่าวนับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในบรูไนฯ

ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ
         - บรูไนฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นลำดับต้นๆ และตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาค

อุปสรรคการลงทุน
         - บรูไนฯ ขาดแคลนแรงงานทำให้ต้องจ้างแรงงานต่างชาติจำนวนมาก
         - การขนส่งสินค้าทางเรือมีอุปสรรคมาก เนื่องจากเรือที่บรรทุกสินค้าไปบรูไนฯ มีสินค้าเฉพาะเที่ยวขาไป แต่ไม่มีสินค้าในเที่ยวขากลับ ประกอบกับประเภทของเรือที่ใช้บรรทุกสินค้าในการส่งออกและนำเข้ามีความแตกต่างกัน โดยสินค้าที่ไทยนำเข้าจากบรูไนฯ ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ ซึ่งต้องใช้เรือในการขนส่งน้ำมันโดยเฉพาะ

         นอกจากนั้น สินค้าต่างๆ ที่ไทยส่งออกไปยังบรูไนฯ มีจำนวนไม่มาก การขนส่งส่วนใหญ่ต้องผ่านการขนถ่ายสินค้าที่สิงคโปร์ก่อน เป็นสาเหตุให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง รวมทั้งยังมีข้อบังคับการนำเข้าสินค้าประเภทอาหารที่เคร่งครัดมาก โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อโค กระบือ แพะ แกะ และไก่ มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรับผิดชอบของบรูไนฯ คือ กระทรวงศาสนา (Ministry of Religious Affairs) และกรมเกษตร กระทรวงอุตสาหกรรม (Ministry of Industry and Primary Resources) ดำเนินการตรวจสอบโรงงาน ทั้งกระบวนการกรรมวิธีการผลิตและการเก็บรักษา เป็นต้น หากผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองแล้ว จึงจะสามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายในบรูไนฯ ได้ ขั้นตอนเหล่านี้ทำให้เกิดความล่าช้าและไม่คล่องตัวในการนำเข้าสินค้าอาหารไปยังบรูไนฯ

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.aseanthai.net

Share