ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

Urbanization ปรากฎการณ์ยืนยัน เมืองต่างจังหวัดโตขึ้นแน่นอน

05 กรกฎาคม 2560

         อีกครั้งกับการที่ TerraBKK Research กำลังจะหยิบยกประเด็นเรื่องที่เป็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยและช่วงเวลามาบอกกล่าว เหตุผลที่เป็นแบบนี้นั่นก็เพราะว่า เทรนด์ของการเกิดขึ้นของ Urbanization หรือการเปลี่ยนแปลงของความเป็นเมืองนั้น กำลังเป็นที่พูดถึงในหลายๆ สื่อ เนื่องจากนี่เป็น Global Trend เพราะฉะนั้นเราจึงไม่อาจจะปล่อยผ่านโดยไม่หยิบยกมาพูดถึงบ้างคงไม่ได้

         Urbanization นั่นคือคำที่นักวิชาการใช้ในการจำกัดความ ปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงของเมืองจากการเป็นชนบทสู่ความเป็นเมือง ซึ่งจะเกิดอย่างสม่ำเสมอในระยะเวลาช้าๆ และเป็นกันมาตลอดทั่วโลก เดิมที กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่เรียกว่าเมืองโตเดี่ยว เป็นเมืองขนาดมหานคร (Metropolitan) ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางในทุกด้านของประเทศ นับตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจ แหล่งงาน การศึกษา รวมไปถึงการพัฒนาในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 5,686,000 คน จังหวัดที่มีจำนวนประชากรรองลงมาจากกรุงเทพฯ (ไม่นับจังหวัดปริมณฑล) คือจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีประชากรประมาณ 2,630,000 คน ในขณะที่ จังหวัดที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุด คือจังหวัดระนอง จำนวนประชากรประมาณ 189,000 คน เท่านั้น ซึ่งเมื่อลองเปรียบเทียบกันดูแล้ว แต่ละจังหวัดในประเทศไทยนั้น มีขนาดของประชากรที่เหลื่อมล้ำกันมากทีเดียว ซึ่งจะสามารถกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า การพัฒนานั้นกระจุกตัวอยู่แค่เพียงจังหวัดใหญ่ๆหัวเมืองเท่านั้น ทำให้ประชากรส่วนใหญ่จึงไปกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่มีการพัฒนาเพียงอย่างเดียว

การพัฒนาจากรัฐ, การพัฒนาจากเอกชน, Urbanization, การพัฒนาเมือง

         แต่ในช่วง 50 - 60 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยอย่างช้าๆในต่างจังหวัด หากจะใช้เกณฑ์ขนาดของประชากรในแต่ละจังหวัดในการแบ่งขนาดของจังหวัด จังหวัดที่มีประชากรมากกว่า 5 ล้านคนอย่างกรุงเทพฯ จะคือเมืองขนาดใหญ่, เมืองที่มีประชากรตั้งแต่ 1 - 5 ล้านคน คือหัวเมืองหรือ เมืองศูนย์กลางระดับภูมิภาค, เมืองที่มีประชากรตั้งแต่ 5 แสน - 1 ล้านคน คือเมืองขนาดกลาง และเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 5 แสนคน คือเมืองขนาดเล็ก

         ซึ่งจากข้อมูลการเก็บ จำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์รายจังหวัดของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2559 พบว่า เมืองขนาดใหญ่ ยังคงมีแค่กรุงเทพฯ ที่เดียว แต่เมืองศูนย์กลางระดับภูมิภาคและเมืองขนาดกลางนั้น กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจะมีเมืองขนาดเล็ก ที่มีประชากรไม่ถึง 5 แสนคน เพียงแค่ 21 จังหวัด จากทั้งหมด 77 จังหวัดในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเมืองที่มีผลมาจากการเพิ่มจำนวนของประชากรนั้น เริ่มเด่นชัดมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ชนบทนั้นเพิ่มขึ้น 66% ในเมืองเพิ่มขึ้น 34% และมีอัตราการเพิ่มขึ้นของความเป็นเมืองโตขึ้น 1.6% ซึ่งหมายความว่าเมืองระดับภูมิภาคและเมืองขนาดกลาง มีจำนวนประชากรมากขึ้น ในขณะที่เมืองโตเดี่ยวอย่างกรุงเทพฯ นั้นก็ยังเติบโตอย่างคงที่ 

การพัฒนาจากรัฐ, การพัฒนาจากเอกชน, Urbanization, การพัฒนาเมือง

         นอกจากนั้น เนื่องจากแรงกระเพื่อมที่รุนแรงของปรากฎการณ์ Urbanization ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่เฉพาะประเทศไทย แต่กำลังแพร่หลายไปทั่วโลก ทำให้มีการศึกษาพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงของความเป็นเมืองสูง โดยทวีปที่มีความเปลี่ยนแปลงของความเป็นเมืองสูงที่สุดนั่นก็คือ ทวีปเอเชีย ด้วยการร่วมกลุ่มจับมือกันระหว่างประเทศ อย่าง ASEAN ทำให้เกิดภาวะการแข่งขันการพัฒนา ส่งผลให้แต่ละประเทศมีการเติบโตมากขึ้นตามลำดับ 

         นอกจากนั้นจากการขยายอิทธิพลทางธุรกิจของจีนที่เน้นการลงทุนในเอเชีย การเปิดประเทศของเมียนมาร์ การพัฒนาเมืองของเวียดนาม หรือการก้าวเท้าเข้าสู่อันดับหนึ่งของธุรกิจสตาร์ทอัพในสิงคโปร์ ล้วนทำให้เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ Urbanization ในทวีปเอเชียนั้น เกิดเร็วและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาจากรัฐ, การพัฒนาจากเอกชน, Urbanization, การพัฒนาเมือง

         ข้อมูลจากการวิจัยเรื่องการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เมืองในทวีปเอเชียของ World Urbanization Prospect ปี 2014 ที่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าไปถึงปี 2050 หรืออีกประมาณเกือบ 40 ปี พบว่า การเติบโตและการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เมืองในประเทศไทยนั้น จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งทวีปเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เสียอีก

การพัฒนาจากรัฐ, การพัฒนาจากเอกชน, Urbanization, การพัฒนาเมือง

         โดยหากจะเจาะตัวเลขให้ลึกเข้าไปอีก ข้อมูลจากการวิจัยบอกว่าในปี 2014 ประเทศไทยมีสัดส่วนพื้นที่เมืองกับพื้นที่ชนบทที่เกือบจะเท่ากัน นั่นคือพื้นที่ชนบท 51% ซึ่งลดลงมาอย่างมากจากในปี1950 และพื้นที่เมือง 49% แตกต่างกับพื้นที่ชนบทเพียงเล็กน้อย แต่ตัวเลขที่น่าสนใจก็คือ ด้วยอัตราการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยขนาดนี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ประเทศไทยจะมีพื้นที่ชนบทเหลือเพียงแค่ 28% และมีพื้นที่เมือง 72% ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่า ประเทศไทยจะไม่ได้มีแค่กรุงเทพมหานคร ที่เป็นเมืองพัฒนาเชิงเดี่ยวอีกต่อไป แต่จังหวัดใหญ่ๆ นั้นจะมีความเจริญเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลเชิงสถิติเหล่านี้ ไม่ได้เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นเพื่อจุดประกายความหวังของพี่น้องคนไทยในต่างจังหวัดอย่างลอยๆ เท่านั้น สิ่งที่ช่วยยืนยันแนวโน้มเชิงสถิติเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี อย่างแรกนั่นคือนโยบายการพัฒนาประเทศจากรัฐบาล ซึ่งถ้าหากติดตามข่าวสารดีๆ แล้ว จะพบว่าการพัฒนาในแง่ของการกระจายความเจริญไปสู่ต่างจังหวัดนั้นเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแล้ว เริ่มตั้งแต่มี ผังประเทศไทย ปี พ.ศ. 2600 ซึ่งกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาทั้งประเทศไว้อย่างชัดเจน และวางบทบาทของแต่ละจังหวัดในแต่ละภาค ให้เกิดความสำคัญต่อการพัฒนาระเทศอย่างเท่าเทียมกัน ทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็จะเห็นได้ว่า มีการพัฒนาระบบทางพิเศษระหว่างจังหวัด, ถนนเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ (EEC, EWEC) รถไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างเมือง หรือแม้แต่ในแต่ละจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างเช่น ภูเก็ต, เชียงใหม่, ขอนแก่น และนครราชสีมา ก็มีแผนการพัฒนารถไฟฟ้าภายในเมือง ของจังหวัดตัวเองด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังปลดล็อคข้อจำกัดการพัฒนาเมืองการค้าชายแดน ด้วยการเปิดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษการค้าชายแดน และพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษ  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต่างจังหวัดมีเม็ดเงินลงทุนทั้งจากภาครัฐ และการลงทุนเพื่อแสวงหาประโยชน์จากภาคเอกชน เข้ามาอย่างมากมาย

การพัฒนาจากรัฐ, การพัฒนาจากเอกชน, Urbanization, การพัฒนาเมือง

         การพัฒนาทั้งจากรัฐและเอกชน ที่จะเข้าสู่เมืองใหญ่แต่ละจังหวัดนั้น จะเป็นปัจจัยดึงดูดสำคัญให้ประชากรที่ย้ายถิ่น หวนกลับไปสู่ทำเลบ้านเกิด หรือแม้แต่ดึงดูดประชากรแรงงานต่างๆ เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทำให้เกิดการขยายตัวของประชากร และการขยายตัวของพื้นที่เมืองตามไปด้วย แน่นอนว่าสิ่งที่จะตามมาด้วยคือ การเพิ่มขึ้นของมูลค่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้เมื่อลองนำข้อมูลราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศรอบบัญชีปี พ.ศ. 2559 - 2562 ของสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน มาพิจารณาร่วมด้วยแล้ว ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จังหวัดที่มีราคาที่ดินเปลี่ยนแปลงสูงที่สุดนั้น ไม่ใช่เมืองโตเดี่ยวอย่างกรุงเทพฯ แต่เป็นเมืองท่องเที่ยวอย่าง น่าน, เลย, เพชรบุรี และจังหวัดใหม่อย่าง บึงกาฬ ซึ่งมีระดับการเปลี่ยนแปลงของราคาประเมินที่ดินโดยเฉลี่ยทั้งจังหวัดมากกว่า 80% รองลงมาคือเมืองขนาดกลางอย่าง พิษณุโลก, พะเยา, อุทัยธานี, ปราจีนบุรี, มหาสารคาม และสุรินทร์ แน่นอนว่าความตื่นเต้นท้าท้ายในการเกิดขึ้นใหม่ของเมืองในประเทศไทยนี้ ยังคงเป็นเรื่องที่เราต้องเฝ้าจับตามองและรอคอยไปพร้อมๆกันอย่างไม่รีบไม่ร้อน เพราะมันอาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนฉับพลันทันทีแน่นอน แต่ก็เป็นประกายความหวังที่สว่างไสวสำหรับคนต่างจังหวัดทั้งหลาย ที่ต้องไกลบ้านมาหางานในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี 

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.terrabkk.com

Share