Home / Seminar

รศ.ดร. กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์ : ภาควิชาการเคหะการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ TREA TALKS Real Estate 2017 - Future Thailand: ประเทศไทย 4.0 ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ไม่ต้องทิ้ง ใครไว้ข้างหลัง”

  • กิจกรรมภายในสมาคมฯ

    29 มิถุนายน 2560 09:00 น. - 29 มิถุนายน 2560 21:00 น.

  • Centerpoint Stuio

  • จำกัดจำนวน 800 ท่าน

โดย รศ.ดร. กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์: ภาควิชาการเคหะการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รศ.ดร. กุณฑลทิพย พานิชภักดิ์ ได้เปิดเผยถึงเป้าหมายในชีวิตคือปรารถนาอยากมีบ้าน โดยให้ความหมายของการมีบ้านที่เป็นได้ทั้ง House ตัวบ้าน และ Home คือความรัก เนื่องจากบ้านเป็นจุดเริ่มต้นของทุกครอบครัว เป็นรากฐานที่สำคัญของสังคม และเป็นปัจจัย 4 ที่ทุกคนขาดไม่ได้ ทุกคนต่างทำงานเก็บเงินเพื่อมีบ้าน เพราะบ้านเป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตไม่ว่าจะมีฐานะจนหรือรวย เป็นการลงทุนที่สูงสุด

TREA TALKS

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อบ้านหลายๆ หลังมาอยู่รวมกัน จะเกิดเป็น “ชุมชน” ขึ้น และเมื่อ “ชุมชน”หลายๆ ชุมชนรวมกัน จะเกิดเป็น “เมือง” ขึ้น ซึ่งอาจสรุปได้ว่า บ้านมีพื้นที่ ¾ ของเมืองนั่นเอง และจัดเป็นที่อยู่อาศัย ถ้าที่อยู่อาศัยไม่ดี เมืองก็ไม่น่าอยู่ 

พร้อมยังเสนอมุมมอง อีกแง่หนึ่งในด้านเศรษฐกิจอสังหาฯ จัดเป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญของประเทศ ทำให้เกิด multiplier effects เมื่อมีการลงทุนบ้านหลังนี้ จะเกิดงานพ่วงตามมาอีกหลายๆ สิบงาน ไม่ว่าจะเป็นภาคแรงงาน ก่อสร้าง อุตสาหกรรม ผลิตหลอดไฟ สายไฟ ประปา จัดว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่งไปในตัว ที่สำคัญ ทำให้เกิด “การจ้างงาน”

ทั้งนี้ รศ.ดร. กุณฑลทิพยยังได้กล่าวต่อว่า เป้าหมายในชีวิตการทำงานเรื่องที่ 2 คือเรื่องผู้มีรายได้น้อย หลายชีวิตต้องอยู่เบื้องหลังของความยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะสำเร็จได้ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารเพียงแค่ 10% เท่านั้น แต่ 90% ที่เหลือคือกลุ่มแรงงานนี่เอง

  • พนักงานขาย
  • พนักงานตรวจเช็คสินค้
  • พนักงานต้อนรับ
  • ช่างซ่อมบำรุง
  • คนส่งสินค้า
  • รปภ.
  • ฯลฯ 

ซึ่ง 80% ของคนเหล่านี้ก็คือผู้ที่มีรายได้น้อย เราย่อเรื่องเป็นศูนย์การค้าและขยายใหญ่ออกไปเป็นการเปรียบเทียบกับเมือง ร้อยละ 60 ของคนในเมืองคือผู้ที่มีรายได้น้อย เมืองจะขาดผู้ที่มีรายได้น้อยไม่ได้ เมืองจะต้องอาศัยบุคคลเหล่านี้ เพราะเป็นกำลังที่สำคัญในการขับเคลื่อน

นอกจากนี้ยังมีการแสดงความคิดเห็นถึงเรื่อง Demand-Supply ปัจจุบันนี้พบว่า Demand ร้อยละ 60% ของครัวเรือนในประเทศไทย รายได้น้อยกว่า 24,500 บาท/เดือน ค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย 3,400 บาท/เดือน จะซื้อบ้านได้ในราคาไม่เกิน 450,000 บาท *(อัตราดอกเบี้ย 7% ระยะเวลาผ่อน 30 ปี)

Supply แต่ราคาที่อยู่อาศัยขั้นต่ำ ภาครัฐ 600,000 บาท ภาคเอกชน 1,000,000 บาทขึ้นไป

เกิดความไม่สมดุลในด้านราคาและปริมาณ เพราะผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนมาก เมื่ออุปสงค์และอุปทานไม่สอดคล้องกันก็ทำให้เกิดปัญหาที่อยู่อาศัยของประเทศ การขาดแคลนที่อยู่อาศัย ชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก จากแนวราบไปสูงแนวสูง ทั่วประเทศไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานคร ส่งผลกระทบไปทั่วประเทศทั้งยังชี้มุมมองให้เห็นทศวรรษที่จะมาถึง

  • Globalization: อัตราความเป็นเมืองสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • คนนานาชาติจำนวนมากจะเข้ามาอยู่อาศัยร่วมกันในเมือง
  • 60%จะเป็นผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในระบบตลาดแบบปัจจุบัน
  • เมืองของเรา บ้านของเราจะเป็นอย่างไร

สำหรับทศวรรษใหม่และทศวรรษที่จะมาถึง เมืองจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วไม่ใช่แค่คนไทยเพียงอย่างเดียว แต่จะมีคนนานาชาติที่เข้ามามากเช่นกัน 60% ของคนเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย แล้วเมืองของเราจะเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามท่ามกลางปัญหาก็มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น เมื่อปีที่แล้วมีการกล่าวปฏิญญาของโลกไว้ร่วมกันว่า เมืองทุกเมืองต้องพัฒนาเมืองไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพัฒนาในด้านต่างๆ เราเน้นการประสานงานกันทุกภาคส่วน โดยที่ภาคประชาชนได้ร่วมกันตั้งบรรษัทกันขึ้นมาเพื่อ

  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
  • สร้างเมืองน่าอยู่
  • พัฒนาเมืองโดยยึดโยงภาคประชาชน
  • ปลอดการครอบงำของกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง

และถ้าหากเราทำแบบต่างคนต่างทำบ้านเมืองก็จะไม่น่าอยู่ แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนและเมือง เพื่อสุขภาวะ แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การพัฒนาจะยั่งยืนขึ้น

โดยนำความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงภาควิชาการมาร่วมคิดเพื่อเปลี่ยนเป้าหมายจากเป้าหมายของฉันไปเป็น เป้าหมายของเรา เปลี่ยนจากกำไรของฉันไปเป็นกำไรของเรา ที่อาจารย์มาพูดก็เพื่อเปลี่ยนเป้าหมายของอาจารย์ไปสู่เป้าหมายของพวกเรา คือ เป้าหมายที่พวกเราจะต้องมีที่อยู่อาศัยที่พอเพียงสำหรับทุกคน และเป้าหมายที่การพัฒนาเมืองจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้นเอง

ดาวน์โหลดข้อมูล : คลิก