ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

พฤกษาฯ สนร่วม 'บ้านคนจน'

05 กันยายน 2560

พฤกษาฯ สนร่วม 'บ้านคนจน'

     อสังหาฯหนุนโครงการบ้านประชารัฐรอบใหม่ แนะราคาและดีไซน์ต้องไปด้วยกัน โดยขายที่ประมาณ 7 แสน-1.2 ล้านบาท ที่สำคัญต้องมีแพ็กเกจพิเศษทางการเงิน ให้คนจนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อได้บ้าน

     นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่ากรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะผลักดันโครงการบ้านประชารัฐเพื่อให้ผู้รายได้น้อยถึงปานกลางมีบ้านเป็นของตัวเองนั้น ถือเป็นเจตนาดีของรัฐบาล ที่ให้การเคหะแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้สินเชื่อ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าสามารถตรวจสอบสินเชื่อไปพร้อมกับการพัฒนาโครงการ ช่วยลดความเสี่ยง ไม่ใช่โครงการสร้างเสร็จแต่ลูกค้ามีน้อย นอกจากนี้ต้องมีมาตรการให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่อ เพราะคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ รายได้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะกู้ได้

 

นายอิสระ บุญยัง


     สำหรับแนวคิดที่จะเปิดให้เอกชนต่างชาติ เช่น จีน มาร่วมทุนสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนนั้น ต่างชาติไม่สามารถทำอสังหาฯได้ แต่ถ้าจะทำลักษณะให้เช่า ผู้ประกอบการไทยก็ทำอยู่แล้ว และมีทุกระดับราคา นอกจากนี้ต้องมีแรงจูงใจด้านภาษีด้วย

     “ที่สำคัญต้องคำนึงถึงกรณีบ้านเอื้ออาทร ที่รัฐให้การเคหะฯสร้างเพื่อคนมีรายได้น้อย แต่ก็ขายไม่หมด เหลือจำนวนมาก เพราะผู้มีรายได้น้อยไม่อยู่ในเกณฑ์จะกู้ได้ นอกจากนั้นการอยู่อาศัยได้กระจายไปในที่ต่างๆ ตามแหล่งงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเช่าเป็นหลัก ถ้าจะทำก็ต้องกระจายไปตามแหล่งงาน”

     นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เผยว่า บริษัทมีความสนใจโครงการบ้านประชารัฐ และเชื่อว่าสามารถสร้างได้ เพราะตลาดกลุ่มนี้พฤกษา เรียลเอสเตท เป็นบริษัทที่สร้างตลาดนี้ขึ้น โดยแนวราบจะมีแบรนด์บ้านพฤกษา ส่วนแนวสูงจะเป็นแบรนด์ พลัม ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้กลุ่มผู้มีรายได้ร้อยถึงปานกลางไม่มีรายได้สูงนัก ดังนั้นบ้านที่จะขายได้ต้องมีราคาอยู่ที่ประมาณ 7 แสน-1.2 ล้านบาท ที่สำคัญคือราคาและดีไซน์ต้องไปด้วยกันได้

     “แต่ตลาดกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางการขายค่อนข้างยาก เพราะลูกค้าไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ หากใช้เกณฑ์พิจารณาคุณสมบัติตามปกติ ฉะนั้นต้องให้แบงก์รัฐเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการจัดแพ็กเกจพิเศษทางการเงิน อย่างเช่นลูกค้ากลุ่มแวลูของพฤกษา ซึ่งจัดเป็นฐานล่าง กลุ่มนี้บริษัทจะมีการเจรจาเงื่อนไขพิเศษกับธนาคารพาณิชย์ ถ้าผ่านการอนุมัติ คนกลุ่มนี้ค่อนข้างมีวินัยในการผ่อน ไม่มีผิดนัดชำระ” นายปิยะกล่าวและว่า

     “นอกจากสร้างใหม่แล้ว ควรจะเปิดให้ผู้ประกอบการนำที่อยู่อาศัยในโครงการปกติเข้าร่วม และอาจจะต้องมีเงื่อนไขสิทธิภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ร่วมโครงการ เพื่อทำราคาให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถมีบ้านได้”

     นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงโครงการบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยว่า ต้องให้การเคหะแห่งชาติเป็นแกนหลัก หาแนวทางดำเนินการร่วมกับเอกชน และยังต้องมีธนาคารอาคารสงเคราะห์เข้ามาร่วม?ด้วย หากมีแผนงานที่ชัดเจน ทางบริษัทก็มีความสนใจจะเข้าร่วมโครงการ

ที่มา  :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,293

วันที่ 3 - 6 กันยายน พ.ศ. 2560

Share