ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

หลุมดำ “ภาษีที่ดิน” กทม. จุกหนัก! “คอนโด-อาคารสูง” ยื้อไม่จ่าย อ้าง! รอ กม.ใหม่

29 กันยายน 2560

สูญญากาศ “ภาษีที่ดินฯ” บานปลาย! กทม. จุกอก ชาวบ้าน-คอนโดฯ ยื้อตีรวนไม่จ่าย อ้างรอกฎหมายใหม่ ยอดจัดเก็บวูบ ดิ้นจัดงบ 300 ล้าน จ้างสำรวจที่ดิน 2 ล้านแปลง อาคาร 2.85 ล้านหลัง จับตา! สนช. ดองเรื่อง

     “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...” ที่คาดว่า จะประกาศใช้ในต้นปี 2561 แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องขยายระยะเวลาแปรญัตติออกไป 60 วัน เพราะเอกชนออกมาคัดค้าน เนื่องจากกระทบในวงกว้างทั่วประเทศ ขณะที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ กทม. ก็เจอปัญหาจากความล่าช้าของ พ.ร.บ.ใหม่ ทำให้ประชาชนนำไปเป็นข้ออ้าง “ไม่ยอมจ่ายภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่” โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมทั่วกรุง

     นายกฤษฎา ศิริพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักการคลัง (สนค.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความไม่ชัดเจนและล่าช้าของกฎหมายภาษีที่ดินฯ ซึ่งยังไม่ประกาศใช้ ส่งผลให้ประชาชน คอนโดมิเนียม และอาคารในกรุงเทพฯ ชะลอการเสียภาษี โดยอ้างว่า จะขอดูภาษีใหม่ออกมาก่อน แม้ กทม. จะตอบไปว่า “อย่างไรภาษีปัจจุบัน ประชาชนก็ต้องเสียให้ครบถ้วนก่อน” ส่วนภาษีใหม่ อัตราจะเป็นอย่างไรก็ต้องว่ากันไป ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจประชาชน

     “มีทั้งที่ตกหล่น ขอผ่อนชำระ คือ แทนที่จะจ่ายในงวดเดียว ก็ขอผ่อนจ่ายบ้าง หรือ จากที่เคยจ่ายตรงเวลา ก็ไปจ่ายช่วงปลายปี เช่น อาคารใหญ่ ๆ และคอนโดฯ ให้เช่าทั้งหลาย ที่เสียภาษีเป็นล้าน ๆ ก็ขอผ่อนชำระ บางรายก็พยายามหลีกเลี่ยง”

     กฎหมายปัจจุบันมีปัญหาตรงที่พนักงาน กทม. จะเข้าไปตรวจดูไม่ได้เลย ทำให้เกิดคอนโดฯ ซื้อให้เช่าต่อ หลีกเลี่ยงไม่ยอมมาเสียภาษี จนกว่า กทม. จะเจอประกาศเองว่า คอนโดฯ นี้ ปล่อยเช่า จึงเช็กได้ ขณะที่ ข้อดีของกฎหมายใหม่จะชัดเจนกว่า คือ คอนโดฯ มีกี่หลัง กี่ห้องพัก ให้เช่ากี่ห้อง กทม. มีอำนาจไปตรวจสอบ อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ “สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีด้วย”

     นายกฤษฎา ให้ความเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่ดินฯ ควรจะออกเป็นกฎหมายให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ทันบังคับใช้ปี 2562 ปัจจุบัน กทม. ไม่สามารถจะขอข้อมูลที่ดินรายแปลงและอาคารจากกรมที่ดินได้ จะต้องเสียค่าธรรมเนียมเหมือนประชาชนทั่วไป ต้นทุนสูงมาก

     ประมาณที่ดินรายแปลงใน กทม. จะมีไม่น้อยกว่า 2.07 ล้านแปลง และอาคารกว่า 2.85 ล้านแปลง หากกฎหมายออกมาแล้ว กทม. จะอยู่ในฐานะหน่วยงานจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นหน้าที่ที่กรมที่ดินต้องให้ข้อมูล เบื้องต้น กทม. เชื่อ พ.ร.บ.ใหม่ จะไม่กระทบผู้มีรายได้ต่ำหรือปานกลาง แต่ส่งผลกระทบคนที่มีทรัพย์สิน (ที่ดิน/อาคารพาณิชย์) ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ เช่น สุขุมวิทและทองหล่อ เพราะราคาที่ดินซื้อขายต่อตารางวาเกินล้านบาท แต่ราคาประเมินของกรมธนารักษ์คาดจะถูกกว่า 50%

     ช่วงปี 2558 กระทรวงมหาดไทยเคยให้ กทม. ทำราคาปานกลางที่ดินจากอัตราที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2524 (ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง, ภาษีบำรุงท้องที่) เพื่อจะประเมินให้เป็นราคาปัจจุบัน ปรากฎว่า ราคาปานกลางที่ดินใหม่ขยับขึ้นเป็น 100 เท่า หากเป็นเช่นนั้น ประชาชนคงรับไม่ได้ กทม. เลยหยุดและกลับไปใช้ราคาปานกลางที่ดินปี 2524 เหมือนเดิม

      ทั้งนี้ กทม. ยืนยันว่า ต้องเตรียมตัวและอยากทราบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. และการที่ กทม. จะเข้าไปสำรวจพื้นที่ได้ ต้องตั้งเราเป็นเจ้าพนักงานทรัพย์สิน โดยเฉพาะปัจจุบัน หลายอาคารทำเป็นเกสต์เฮาส์ หรือ ห้องพักเล็ก ๆ คิดค่าเช่าเป็นรายเตียง เพียงแต่ที่ผ่านมา กทม. ทำไม่ได้เลย และ กทม. ต้องใช้เวลาขอข้อมูลกรมที่ดินและว่าจ้างบริษัทประเมินสำรวจ เพราะต้องวัดขนาดพื้นที่และการใช้ประโยชน์ คาดใช้งบ 300 ล้านบาท


     ปีงบประมาณ 2560 ประมาณการรายรับรวม กทม. อยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมงบอุดหนุนจากส่วนกลางอีก 19,975 ล้านบาท) จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้ที่ กทม. จัดเก็บเอง 20,000 ล้านบาท (รายได้ภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ฯลฯ) และอีก 5.6 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ล่าสุด (1 ต.ค. 2559 - 8 ก.ย. 2560) เป้ารายได้จากภาษีอากร 1.58 หมื่นล้านบาท กทม. จัดเก็บได้ 1.46 หมื่นล้านบาท พลาดเป้า 1.2 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตั้งเป้าที่ท้าทาย โดยเฉพาะ “ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” ต่ำกว่าเป้า 905 ล้านบาท

     “ภาษีที่ดินฯ ตัวใหม่ คาดจะส่งให้การจัดเก็บภาษีของ กทม. ปีแรก เพิ่มราว 5,000 ล้านบาท จากที่จัดเก็บได้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท เป็น 20,000 ล้านบาท”  สำหรับความคืบหน้าการปรับเปลี่ยน “อัตราภาษีที่ดินฯ” เพื่อความเหมาะสมตามข้อเสนอของเอกชน ... นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ประเมินว่า หากยกเว้นภาษีที่ดินฯ และบ้านหลังแรกไม่เกิน 20 ล้านบาท จะทำให้มีผู้เสียภาษี 2% ของจำนวนครัวเรือน 20 ล้านครัวเรือน (กรณีเว้นไม่เกิน 50 ล้านบาท จะอยู่ที่ 1%) ทำให้รัฐคาดจะมีรายได้ในปีแรก 2.8 หมื่นล้านบาท

 

พิรุธ สนช. ยื้อ พ.ร.บ.ใหม่
     ความล่าช้าในขั้นตอนของ สนช. มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ สนช. มีวาระซ่อนเร้น เนื่องจากร่างกฎหมายใหม่ กระทบต่อการจ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า สนช. 247 คน ครอบครองที่ดินที่มูลค่ารวมกันถึง 9,803,618,528 บาท หรือเฉลี่ยคนละ 42,075,616 บาท

     สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า อยู่ระหว่างรอตัวแทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้ามาชี้แจงก่อน เนื่องจาก นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ สนช. และรองประธานกรรมการสภาหอฯ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนว่า ได้รับผลกระทบ

     “ผมไม่อยากให้กฎหมายออกมา แล้วมีคนมาร้องเรียนในภายหลัง จึงต้องพยายามทำให้ดีที่สุด” ประธาน สนช. อ้างที่มาของความล่าช้า

 



ที่มา  :  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300

วันที่ 28-30 ก.ย. 2560

Share