ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

‘ชอปปิงเซ็นเตอร์4.0’ชู‘มิกซ์ยูส-แลนด์มาร์ก’รับทัวริสต์ (18-10-2560)

18 ตุลาคม 2560

‘ชอปปิงเซ็นเตอร์4.0’ชู‘มิกซ์ยูส-แลนด์มาร์ก’รับทัวริสต์

คลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัลและรูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ หรือ “Digital Disruption” สร้างแรงกระเพื่อมกระทบบรรดาศูนย์การค้าที่ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ธุรกิจและรูปแบบบริการให้สามารถตอบรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัล

รวมทั้ง “โอกาสมหาศาล” จากปริมาณนักท่องเที่ยวเยือนไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

วัลยา จิราธิวัฒน์ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย หรือ TSCA กล่าวว่า  การขับเคลื่อนธุรกิจศูนย์การค้าไทยก้าวสู่ยุค “ชอปปิงเซ็นเตอร์ 4.0” มุ่ง 3 กลยุทธ์ ได้แก่ “Customer-Centric” ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ด้วยการออกแบบศูนย์การค้าและปรับรูปแบบการให้บริการให้ทันไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคดิจิทัลทุกเพศทุกวัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคและความคาดหวังใน

การมาศูนย์การค้าแตกต่างไปจากเดิม อาทิ การออกแบบและเพิ่มบริการในศูนย์การค้าสำหรับกลุ่มสูงวัย ทั้งห้องน้ำ ลิฟท์ รวมทั้งเทรนด์การใช้ชีวิตยุคใหม่ เช่น บริการโค-เวิร์กกิ้งสเปซ หรือบริการสำหรับครอบครัวยุคใหม่ ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ และชอบเล่นกีฬา บริการสำหรับสัตว์เลี้ยง แม้กระทั่งบริการที่ตอบโจทย์การเดินทางมาที่ศูนย์การค้าของลูกค้าไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถจักรยาน มีจุดขึ้นรถสาธารณะ จุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ขณะเดียวกันเน้นเทรนด์การออกแบบที่ผสมผสานพื้นที่สีเขียวเพื่อให้คนเมืองได้มีพื้นที่สำหรับพักผ่อน 

Omnichannel”  เน้นทำการตลาดแบบผสมผสานทุกช่องทาง เชื่อมประสบการณ์ชอปปิงแบบไร้รอยต่อ ตอบสนองความต้องการแบบ personalized โดยใช้ข้อมูลจากฐานบิ๊กดาต้าของลูกค้า เช่น เดอะวันการ์ด เอ็มการ์ด วิชการ์ด เพื่อทำการตลาดแบบเจาะกลุ่มตามพฤติกรรมการซื้อ ไลฟ์สไตล์ ความชอบ รวมไปถึงการพัฒนาระบบรองรับสังคมไร้เงินสด การใช้จ่ายผ่านมือถือ และบัตรแทนเงินสด

Build partnership” สร้างพันธมิตร เปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้า เพราะคู่แข่งที่ท้าทายที่สุดในยุคนี้คือ “ผู้บริโภค” โดยศูนย์การค้าจะผนึกกำลังสนับสนุนนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ และส่งเสริมให้เกิดย่านชอปปิง ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

ขณะที่ยุทธศาสตร์การลงทุนของศูนย์การค้าประเทศไทยมุ่งสู่ “โปรเจกมิกซ์ยูส” หรือ “เมกะโปรเจก”  สร้างศูนย์การค้าที่จะเป็น “แลนด์มาร์ค” ระดับโลก รองรับผู้บริโภคในประเทศและ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” จากศักยภาพไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ต้องการมาเยือนไทย ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเยือนไทยสุงถึ 32 ล้านคน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

ปัจจุบัน ไทยมีพื้นที่ศูนย์การค้ารวมกว่า 19 ล้านตร.ม. เฉพาะกลุ่มสมาชิกสมาคมฯ มีพื้นที่โครงการ 8 ล้านตร.ม. ในปี 2562 คาดขยับเพิ่มเป็น 9.1 ล้านตร.ม. ขณะที่ภาพรวมศูนย์การค้าในไทยมีพื้นที่กว่า 20.9 ล้านตร.ม. ภายใต้การลงทุนมูลค่ารวมกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท

โปรเจคใหม่ยังเป็นการร่วมสร้างไลฟ์สไตล์แลนด์มาร์คใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย โดยมีอภิมหาโครงการที่สร้างปรากฏการณ์แลนด์มาร์คระดับโลกให้ไทย อาทิ เซ็นทรัล ภูเก็ต และไอคอนสยาม ที่จะเปิดบริการในปี2561”

ผู้ประกอบการยังมีการขยายการลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทั้งโครงการมอเตอร์เวย์ รถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงในจังหวัดหลัก อาทิ โครงการก่อสร้างระบบคมนาคมสู่จังหวัดนครราชสีมา ที่จะมีการเปิดตัว เซ็นทรัล พลาซา โคราช  วันที่ 3 พ.ย.นี้ ในพื้นที่ดังกล่าวมีโครงการเทอร์มินอล 21 โคราช และ เดอะมอลล์ โคราช  นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีซีซี ได้แก่ ชลบุรี (พัทยา) ระยอง การลงทุนในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ย่านบางนา-สุวรรณภูมิ เชื่อมต่อกับเขตอีอีซี

นพพร วิฑูรชาติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการมิกซ์ยูสเป็นเทรนด์ของการพัฒนาธุรกิจศูนย์การค้าและอยู่ในแผนลงทุนหลักระยะสั้นและระยะยาว

โดยแผนธุรกิจจากนี้จนถึงปี 2563 เตรียมงบประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาทสำหรับการลงทุนโครงการใหม่และปรับปรุงโครงการเก่า อาทิ มาร์เก็ตเพลส ทองเหล่อ ปรับรูปแบบเป็นมิกซ์ยูส มีทั้งสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก ขนาด 3 หมื่นตร.ม. การพัฒนาเฟส 2-3-4 เมกาบางนา การพัฒนาโครงการมาร์เก็ตเพลส ดุสิต 

บริษัทยังมีที่ดิน แปลงใหญ่ในมือรอพัฒนา ได้แก่ บางนา (เมกาบางนาจาก 350 ไร่ ใช้ไปแล้ว 250 ไร่,บางใหญ่ 50-60 ไร่ และแปลงใหญ่สุด 950 ไร่ ซึ่งรอจังหวะการเติบโตของเมือง

 

จี้รัฐหนุน‘ช้อปช่วยชาติ’ปลุกกำลังซื้อ

ภาพรวมธุรกิจศูนย์การค้าเติบโตเฉลี่ย 4-5% จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการ ขณะที่ กำลังซื้อ เชื่อว่าไต่ระดับฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เพื่อเป็น “แรงส่ง” ที่ดี ต้องการให้ภาครัฐพิจารณามาตรการกระตุ้นการจับจ่าย อย่าง ช้อปช่วยชาติ เข้ามาเป็นกำลังเสริมในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้

นอกจากนี้ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม ต้องการให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางลดภาษีสินค้านำเข้าลงเช่นกัน  เชื่อว่าเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะส่งเสริมไทยเป็น “ฮับชอปปิง” แห่งภูมิภาค สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  

 

ที่มา  :  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

18 ตุลาคม 2560

Share