ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

แพลตฟอร์ม+โลเกชั่น หัวใจบริหารอสังหาฯยุคดิจิทัล

22 กุมภาพันธ์ 2561

ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีไม่เคยหยุดนิ่ง จึงเกิดเป็นความท้าทายให้กับทุกธุรกิจว่าจะตั้งรับอย่างไร หรือปรับตัวอย่างไรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด จัดสัมมนา Powering Progress Together จุดประเด็นความท้าทายมิติต่าง ๆ ที่จะมีผลต่ออนาคต และหนึ่งในหัวข้อสัมมนา คือ เรื่องนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อบ้านและเมือง โดยมี “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มาบอกเล่าสถานการณ์

เบื้องต้น “ดร.ชัชชาติ” ฉายภาพให้ฟังว่า บ้านและเมืองในบริบทของไทยคือแพลตฟอร์ม และโลเกชั่น ซึ่งความต้องการพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยของคนไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลง และ disruptive innovation ก็ไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยีใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ หรือมุมมองใหม่ ดังนั้น disruption ที่เกิดขึ้นในหลายธุรกิจ เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจมากกว่า

“สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมาก คือ แพลตฟอร์ม ในวงการอสังหาริมทรัพย์ หากย้อนกลับไปการทำธุรกิจแบบเดิม จะเป็นแบบ pipeline คือ มีผู้ผลิต ผู้ออกแบบ คนหาลูกค้า แล้วก็คนขาย ด้วยรูปแบบอย่างนี้ทำให้ธุรกิจขยายตัวไม่ได้เท่าที่ควร แต่การปฏิวัติของแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบกับธุรกิจ ทำให้เกิดตลาดนัด หรือ market place ที่นำคน ผู้ผลิต และผู้ใช้ มาอยู่บน market place ซึ่งความต้องการจริงไม่ได้เปลี่ยน ผู้บริโภคไม่ได้เปลี่ยน แต่เปลี่ยนที่เกิดการเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น”

“ยกตัวอย่าง กูเกิล อาลีบาบา เปลี่ยนแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อให้ติดต่อกันง่ายขึ้น เพราะหัวใจของปัจจุบัน และอนาคต คือ คำว่า search cost เป็นการค้นหาลูกค้า ผู้ผลิตที่เหมาะสม หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งแพลตฟอร์มจะทำให้เราลด search cost ลงได้ เหมือน Airbnb ที่ทำให้ผู้ให้เช่ากับผู้เช่าเจอกันสะดวกกว่าเดิม เรียกได้ว่าเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ แต่ end product เหมือนเดิม”

เช่นเดียวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เดิมโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ ป้าย แต่เมื่อมีแพลตฟอร์มของตัวเอง ทุกโครงการของบริษัทก็อยู่บนแพลตฟอร์ม ซึ่งแพลตฟอร์มไม่ต้องผ่าน gatekeeper ทำให้การสื่อสารง่าย และสะดวก คนทั่วโลกเห็นแพลตฟอร์มของบริษัทบนอินเทอร์เน็ตได้ สามารถเข้าถึงได้เร็วและทุกเวลา รวมถึงมีระบบฟีดแบ็กด้วย

“ทุกธุรกิจเป็นอย่างนี้ คือถูก disrupt ด้วยแพลตฟอร์ม อย่างคนต้องการบ้าน คงไม่ขับรถไปดูบ้านเลย แต่จะหาข้อมูลจากเว็บไซต์ก่อน เพราะข้อมูลถูกรวบรวมมาอยู่บนแพลตฟอร์ม ซึ่งสามารถหาและเปรียบเทียบข้อมูลกันได้ ทำให้ search cost ลดลง”

“ตอนนี้คิวเฮ้าส์เลิกลงโฆษณาป้ายแล้วมาเน้นการสื่อสารผ่านเว็บไซต์ ทำบ้านตัวอย่างให้เห็น ด้วยพลังของเทคโนโลยี ทำให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปที่หมู่บ้าน ซึ่งพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยน โดยหันมาใช้แพลตฟอร์มเยอะขึ้น เมื่อก่อนเว็บไซต์ของเรามีคนเข้าชม 9 แสนคน แต่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 3 ล้านคน”

“เพราะแพลตฟอร์มมีฟีดแบ็กที่เข้มแข็งมาก ดังนั้น ในระยะยาว พลังของแพลตฟอร์มจะช่วยให้คุณภาพของสินค้าดียิ่งขึ้น เพราะหากใครทำผิดพลาด หรือทำไม่ดี ทุกอย่างจะขึ้นไปปรากฏบนแพลตฟอร์มทั้งหมด ผู้ผลิตจึงต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพมากขึ้น หรือทำให้คุณภาพเป็นหัวใจของธุรกิจ เพราะการซื้อบ้าน ลูกค้าไม่ได้ถามเรา แต่จะเข้าไปหาข้อมูลทางแพลตฟอร์มทั้งกูเกิล พันทิป ว่าหมู่บ้านนี้ดีหรือเปล่า คือ ลูกค้าไม่เชื่อบริษัท แต่เชื่อ peer to peer มากกว่า”

นอกจากนี้ “ดร.ชัชชาติ” ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ disrupt อสังหาริมทรัพย์ คือ โลเกชั่น เหมือนที่เคยได้ยินกันว่า อสังหาริมทรัพย์ คือ ทำเล ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน คือ new CBD ตรงรัชดาฯ ที่ตัดกับถนนพระราม 9 ซึ่งมีเส้นรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และมีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ซึ่งอนาคตจะมีรถไฟสายสีส้มเพิ่มเติม

ดังนั้น กล่าวได้ว่าโลเกชั่น คือ transportation หรือสิ่งที่จะ disrupt อสังหาริมทรัพย์ หรือเมืองในอนาคต คือ transportation โดยที่อยู่อาศัยจะขึ้นอยู่กับ transportation หรือโครงข่ายรถไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งจากโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเมือง ที่อยู่อาศัย รวมถึงปั๊มน้ำมันที่ถือว่าเป็นธุรกิจอสังหาฯอย่างหนึ่งก็ต้องมาแข่งกับคอนโดฯ ซึ่งอาจโดนทุบเพื่อสร้างคอนโดฯ เพราะกำไรปั๊มน้ำมันสู้คอนโดฯไม่ได้

“รูปแบบของ transportation เปลี่ยนแปลงเป็น feeder คือ จากเดิมทุกคนมีรถยนต์ แต่เมื่อมีโครงข่ายรถไฟฟ้า คนก็เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าแทน และในอนาคตเมื่อระบบขนส่งมวลชนเข้มแข็งขึ้น คอนโดฯจะบีบเราไปเรื่อย ๆ เพราะราคาที่ดินที่แพงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตบีบขนาดห้องให้เล็กลง เพื่อขายได้มากขึ้น ซึ่งหากไม่มีการควบคุมราคา คนจะถูกย้ายไปอยู่ข้างนอก และต้องเดินทางไกลขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาของระบบรถไฟฟ้าของไทย คือ มีระบบ feeder ไม่ดี เพราะมีการคิดแต่เส้นทางหลัก แต่ไม่ได้คิดถึงเส้นเลือดฝอยที่พาคนไปสู่โลเกชั่น อีกทั้งไม่ได้มองไปถึงเรื่องทางเดินเท้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง เรียกได้ว่าไม่ได้คิดนวัตกรรมให้ครบลูป หรือเป็น incomplete innovation ซึ่งไม่ได้มองถึงชีวิตของคนในมิติอื่น ๆ ที่อยู่ในสังคม

“นวัตกรรมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องดี แต่ควรคิดถึงวิธีอื่น ๆ หรือประเด็นต่าง ๆ ให้ครอบคลุม รวมถึงต้องนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือลดความแตกต่างด้วย เพราะไทยแลนด์ 4.0 ต้องก้าวไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

Share