ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

เจ้าสัวสั่งบริษัทอสังหาฯ ในเครือช้อนซื้อที่ดินในเมือง จีนจ้องเทกฯ โรงแรม

22 มิถุนายน 2563

          บริษัทอสังหาฯ ในเครือข่ายทุนเจ้าสัว ส่งออเดอร์ผ่านไปยังบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน จ้องช้อนซื้อที่ดินในแปลงในเมือง ราคาไม่เวอร์ ราคาดี ด้านนายก ส.ภูเก็ต ยอมรับ โรงแรมหลายแห่งในภูเก็ตประสบปัญหา ประกาศขายกิจการ ทุนจีนรุกคืบขยายแชร์อสังหาฯ ในภูเก็ต ร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นผุดโครงการ จับตา "กองทุนฯ" นอก งบไม่อั้น เบื้องต้นวางไว้ 10,000 ล้านบาท สนใจออฟฟิศ โรงแรม ชี้การท่องเที่ยวในไทยังเติบโต

          แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ เผยว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเครือข่ายของกลุ่มเจ้าสัวใหญ่ไม่ว่าจะเป็น บริษัททีซีซี แลนด์ บริษัท แผ่นดินทอง ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) มีคำสั่งผ่านมายังบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในการซื้อที่ดินในเมือง เช่น โซนสีลม สาทร และสุขุมวิท ราคาไม่เวอร์ ราคาดี ก็เสนอเข้ามา ทางMQDC มีนโยบายพร้อมช้อนเก็บไว้

          "ที่ดินในกรุงเทพฯ ราคาคงไม่ลง แลนด์ลอร์ดคงไม่มีใครเทขายออกมา บางแปลงราคาขึ้นไปรออนาคตแล้ว ขณะที่บางบริษัทที่เป็นผู้นำพัฒนาโครงการแนวรถไฟฟ้า มีความพยายามที่จะบริหารสภาพคล่องภายในองค์กรมาแล้ว 3-4 ปี ทั้งการขายหุ้นให้แก่บริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจอสังหาฯ หรือขายตึกออกไป ล้วนแล้วแต่เป็นทางออกที่ดีให้แก่องค์กร เนื่องจากพื้นฐานการทำธุรกิจของบริษัทดังกล่าวจะตุนแลนด์แบงก์ค่อนข้างเยอะ ราคาสูงด้วย เลยมีผลต่อสภาพคล่องของบริษัทฯ ตอนนี้ผู้บริหารไม่ฝืนทำโครงการ" แหล่งข่าวกล่าว

          นายพัทธนันท์ พิสุทธิ์วิมล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต กล่าวถึงภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตว่า กำลังซื้อหายไปทุกตลาด เนื่องจากผู้ซื้อขาดความเชื่อมั่นในการสร้างหนี้ระยะยาว และไม่มั่นใจตนเองจะสามารถยืนอยู่ได้นาน มีรายได้ที่คงที่เพื่อชำระหนี้ที่อยู่อาศัย ในภาวะที่เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยชะลอตัวลง ซึ่งกลุ่มที่มีกำลังซื้อมีเงินสดอยู่ในมือก็ยังมีอยู่ในตลาด แต่ไม่กล้าที่จะซื้ออสังหาฯ อย่างไรก็ตาม ด้วยความอ่อนแอของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ ทำให้เห็นโรงแรมหลายแห่งประกาศขายกิจการพอสมควร เพียงการขายทิ้งต้องพิจารณาเงื่อนไข ในภาวะแบบนี้ความเสี่ยงทางธุรกิจสูง การเปิดให้บริการอีกครั้งยังไม่แน่ชัดจะใช้เวลากี่เดือนจะพลิกฟื้นขึ้นมาได้เหมือนเดิม ผู้ประกอบการอาจจะยินดีขายโรงแรมให้แก่กลุ่มทุนรายใหม่ที่สนใจ

          "กลุ่มทุนเจ้าสัวก็เยอะ แต่ไม่โฉ่งฉ่าง เพราะโอกาสในการซื้อมันมี ธุรกิจมันดาวน์ลง การซื้อของถูกมันง่าย ซึ่งผู้ขายอาจจะดูเรื่องภาระหนี้กับแบงก์ ถ้าขายแล้วพอคืนแบงก์ได้ ก็ตัดสินใจ หรือแม้แต่กลุ่มทุนจีนเข้ามีมาเยอะ จะเป็นรูปแบบ Investing หรือหาช่องทางในการทำโครงการร่วมทุนกับทุนท้องถิ่นพัฒนาโครงการขึ้นมา ก่อนหน้านี้ จีนจะซื้อยกชั้นในคอนโดฯ เพื่อนำไปขายหรือนำแขกมาพักในช่วงวันหยุด"

          สำหรับราคาที่ดินในภูเก็ต ในภาวะแบบนี้ ราคาไม่ได้ขยับขึ้นเลย ราคาตั้งขายไม่ลงแต่เป็นช่วงที่ราคาสามารถต่อรองกันได้ เนื่องจากต้องการถือเงินสดไว้ให้มากที่สุด แต่ถ้าเป็นแลนด์ลอร์ด เรื่องการลดราคาคงจะยากอยู่ เพราะมีกระแสเงินสดอยู่ในมือพอสมควร ซึ่งราคาที่ดินในภูเก็ตในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา บางทำเลราคาปรับขึ้นเกือบ 100% แต่ในภาวะปัจจุบัน ราคาที่ดินยังปรับขึ้นแต่ไม่มากเฉลี่ย 10-15%

          "ไม่ใช่แค่ภาคอสังหาฯ เหนื่อย ธุรกิจค้าปลีก ก็ลำบาก ถ้าจะเปรียบเทียบ ภูเก็ตก็เหมือนถุงเงิน 1 ถุง หมุนใช้ภายในถุง แต่ตอนนี้ ไม่มีเงินนอกเข้ามาเติมใส่ในถุงเงินนี้ สุดท้ายเงินก็หมดไป เพราะไม่มีเงินจากนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย และต่อให้เปิดเกาะ นักท่องเที่ยวเข้ามาไม่พอ เงินในถุงก็ลดอยู่ดี" นายพัทธนันท์ กล่าว

          รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภาคธุรกิจ ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวเกินไปกว่าไตรมาส 3 ธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริการเช่น โรงแรม ก็อาจจะไม่สามารถประคองตัวเองได้และอาจจะต้องปิดกิจการลง ซึ่งแน่นอนครั้งนี้เป็นวิกฤต และจะเริ่มเห็นสัญญาณของกลุ่มที่มีเงินเก็บ หรือมีเงินก้อนที่มีอยู่ในมือเยอะค่อนข้างได้เปรียบในสถานการณ์แบบนี้ และจะทำให้ Capital Market (หมายถึง การซื้อขายและการลงทุน หลังโควิด-19 เริ่มดีขึ้นนั้น) จะเกิดอาการเข้าช้อนซื้อโครงการ จะส่งผลให้ Capital Market ค่อนข้างเติบโตมาก อย่างเช่น ในกลุ่มโรงแรม หรือคอนโดมิเนียม จะมีการเข้าไปเทกโอเวอร์และซื้อขาดค่อนข้างเยอะ

          สำหรับผู้ประกอบการที่เดินต่อไปไม่ไหว ผู้ซื้อใหม่จะได้เปรียบในเรื่องการกำหนดราคา ผู้ขายต้องถูกบีบราคาแน่นอน และจะต้องอยู่ในทำเล (โลเกชัน) ที่ยังไปได้ และมีโอกาสในการลงทุน เช่น ธุรกิจอาคารสำนักงาน ยังมีโอกาสเติบโตและเป็นที่ต้องการของทุนต่างชาติที่จะเข้ามาซื้อ (ดีมานด์)โครงการ อย่างเช่น พระราม 9 เป็นที่ต้องการ แต่ไม่มีอาคารสำนักงานประกาศขาย ยกเว้นอาคารสร้างค้างใกล้สี่แยกพระราม 9 ที่ได้ทุนใหม่เข้ามาปรับปรุงอาคารใหม่ (บริษัท แคส แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด เข้าไปซื้ออาคารและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น CAS Centre เดิมชื่อตึก I.C.E.Tower)

          "มีกลุ่มผู้ซื้อจากต่างชาติประสานมายังคอลลิเออร์สฯ สนใจซื้อโรงแรมในประเทศไทยหลายโรงแรม แต่พอมีวิกฤตเกิดขึ้น คนซื้อจะรู้เลยว่า มีของเสนอขายเข้ามามาก ราคาถูกต่อรองเยอะมาก เช่น 1,000 ล้านบาท กดเหลือ 700 ล้านบาท ราคาต่อรองขั้นต่ำถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการรายไหนไม่ไหวจริงๆ ก็ตัดใจขาย แต่ถ้าพอยังมีแรงอยู่ สงวนท่าที ก็ประคับประคองไปก่อน"

          โดยในช่วงนี้กลุ่มที่มีทุนหนาจะเป็นผู้ที่มีโอกาสมากที่สุด จะเกิดการลงทุนการซื้อขายโครงการจำนวนมาก (บิ๊กล็อต) ค่อนข้างเยอะ เช่น ซื้อโครงการอสังหาฯ เพื่อเข้ากองรีท เนื่องจากผู้ลงทุนมองเห็นว่า ภาพรวมอสังหาฯ ในไทยยังเติบโต อย่างเช่น อาคารสำนักงานให้ผลตอบแทนที่ดี โรงแรมยังไปได้ เนื่องจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในไทยช่วงที่ผ่านมาสูงถึง 40 ล้านคน มากสุดในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ภูเก็ต และพัทยา ยังเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวอยู่ดี

          ขณะที่แม้ซัปพลายคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ยังล้นตลาด แต่ก็ยังมีดีมานด์ที่จะเข้าเทกโอเวอร์คอนโดฯ ในเมืองและโซนพระราม 9 เนื่องจากเป็นทำเลที่ยังลงทุนได้ ส่วนที่นอกเมือง หรือชานเมือง หรือรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ นักลงทุนจะไม่เอาเลย เพราะจะไปต่อยอดในการลงทุนยาก ซึ่งเราจะเห็นว่า ก่อนวิกฤต ระหว่างวิกฤต และหลังวิกฤต ก็เป็นโอกาสของคนที่มีเงินหนาอยู่แล้ว แต่การซื้อขายโครงการจะคุยเป็นเคสๆ ไป ไม่ใช่จะจบทั้งหมด

 

 ที่มา  :  ผู้จัดการออนไลน์

Share