ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

ข้อวิจารณ์ปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

28 สิงหาคม 2563

กระผม นายประยูร  รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขอส่งคำตอบชี้แจงประเด็นทันสถานการณ์ประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2563 กรณีข้อวิจารณ์ปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง “สื่อนำเสนอปัญหาการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งประชาชนมีความกังวลใจกรณีที่กระทรวงการคลังระบุว่าหากประชาชนไม่ได้จ่ายภาษีที่ดินภายใน ส.ค. 63 จะมีค่าปรับ 10-40 % แต่ประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งภาษีที่ดินฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ระบุว่าออกหนังสือให้ไม่ทัน และไม่ได้รับความชัดเจนว่าจะมีการผ่อนผันให้อย่างไรหรือไม่ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก” ดังนี้

1. หาก อปท. ยังไม่มีหนังสือแจ้งประเมินไปยังผู้เสียภาษี ถือว่าผู้เสียภาษีไม่มีภาระต้องไปเสียภาษีตามกฎหมาย ซึ่งอาจมีหลายสาเหตุ เช่น 
1.1 ประชาชนได้รับยกเว้นภาษีกรณีเป็นเจ้าของบ้านและมีชื่ออยู่ใน
ทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี หากมูลค่าฐานภาษีกรณี ใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือ 
10 ล้านบาท แล้วแต่กรณี หรือเป็นบุคคลธรรมดาใช้ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างในการประกอบการเกษตรจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีในปี 2563 – 2565
1.2 หนังสือแจ้งประเมินภาษีส่งไปแล้วไม่มีผู้รับ จดหมายจึงถูกตีกลับ
1.3 ไม่อยู่ในฐานข้อมูลการสำรวจผู้อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีของ อปท. (ตกสำรวจ)

2. อปท. ไม่สามารถแจ้งประเมินภาษีย้อนหลังได้ ดังนั้น แม้ว่าจะมีหน้าที่เสียภาษี แต่หากเกิดกรณี อปท. ไม่แจ้งประเมินภาษีภายในปี 2563 ผู้เสียภาษีก็ไม่มีภาระต้องไปเสียภาษีตามกฎหมายเช่นเดียวกัน

3. ผู้บริหารท้องถิ่นสามารถขยายเวลา
การชำระภาษีของประชาชนให้เกินกว่าเดือนสิงหาคม 2563 ได้ แต่ต้องดำเนินการก่อนวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด
ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบให้ขยายเวลาดำเนินการ
ตามกฎหมายออกไปเป็นการทั่วไป เฉพาะการจัดเก็บภาษีในปี 2563 ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี ดังนี้
3.1 กรณีผู้บริหารท้องถิ่นเห็นเป็นการสมควร
เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ผู้เสียภาษี สามารถอนุมัติขยายเวลา
การชำระภาษีออกไปเป็นการทั่วไปเฉพาะในเขต อปท. ได้ โดยประกาศเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ซึ่งผู้เสียภาษีไม่ต้องเสียเบี้ยปรับร้อยละ 10-40รวมถึงเงินเพิ่มร้อยละ 0.5-1 ตามกฎหมาย เช่น ปัจจุบันเมืองพัทยาได้มีการขยายเวลา
การชำระภาษีของผู้เสียภาษีออกไปจนถึงเดือนตุลาคม 2563 กรณีเช่นนี้ ผู้เสียไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมายแต่อย่างใด 
3.2 กรณีผู้เสียภาษีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถชำระภาษีได้
ภายในเดือนสิงหาคม 2563 หรือภายในระยะเวลาที่ผู้บริหารท้องถิ่น
ได้อนุมัติขยายออกไปตามข้อ 3.1 ผู้เสียภาษีสามารถยื่นเรื่องขอให้
ผู้บริหารท้องถิ่นขยายเวลาการชำระภาษีออกไปเป็นรายกรณีได้ โดยประชาชนไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ แต่ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือน

4. กรณีผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีจาก อปท. ล่าช้า เช่น  ได้รับแจ้งเกินกว่าเดือนสิงหาคม 2563 ผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิคัดค้าน
การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน 

5. กรณีค่าภาษีตั้งแต่ 3,000 บาท ผู้เสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระภาษีได้ 3 เดือน นับแต่เดือนที่ต้องชำระภาษี โดยเสียภาษีในจำนวนเท่ากันทุกเดือน

6. ประชาชนสามารถชำระภาษีได้หลายช่องทาง ดังนี้
6.1 ชำระตรง ณ ที่ทำการ อปท.
6.2 ชำระผ่านไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เช่น ธนาณัติ ตั๋วแลกเงิน เช็ค
6.3 ชำระผ่านธนาคาร เช่น โอนเงินผ่านเลขที่บัญชีของ อปท., ชำระผ่านระบบ QR Payment (ATM, Internet Banking, Mobile Banking, ชำระตรงผ่านธนาคาร)
6.4 ชำระผ่านระบบอื่นตามที่มีการทำบันทึกข้อตกลงไว้  

เนื่องจากปี 2563 เป็นปีเริ่มแรกของการบังคับใช้พระราชบัญญัติ
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกอบกับเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งในส่วนของ อปท. ที่อาจดำเนินการล่าช้าหรือไม่ถูกต้อง รวมถึงประชาชนผู้เสียภาษีที่มีรายได้ลดลงจากการหยุดกิจการ ซึ่งรัฐบาลได้ตรา พรฎ. ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ให้กับทุกกลุ่มที่เสียภาษีในปี 2563 ไปแล้ว ทั้งนี้ รายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถือเป็นรายได้หลักที่สำคัญของ อปท. ซึ่งจะนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาและจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งในส่วนของ อปท. ที่จะต้องดำเนินการด้วยความเป็นธรรมต่อประชาชน และประชาชนผู้เสียภาษี ดังนั้น จึงขอให้ผู้เสียภาษีติดตามข้อมูลข่าวสารเรื่องการขยายเวลาการชำระภาษีดังกล่าวจาก อปท. ซึ่งตนถือครองทรัพย์สินอยู่ โดยในกรุงเทพมหานครสามารถ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองรายได้ กรุงเทพมหานคร หรือฝ่ายจัดเก็บรายได้ของสำนักงานเขตทุกเขต ส่วน อปท. อื่น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองคลัง ของแต่ละ อปท.

หมายเหตุ : ช่องทางการเผยแพร่ ดังนี้ เฟซบุ๊ค ท้องถิ่นไทย / เว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  / เว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน ประชาชาติ ข่าวสด บ้านเมือง สยามรัฐ เนชั่นสุดสัปดาห์ ฐานเศรษฐกิจ และสื่อออนไลน์ในภูมิภาค 

Share