ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

ข่าวดี! ธปท.ต่อเวลา “พักหนี้” ให้ถึงสิ้นปี 2563 ไม่ถูกปรับเป็น “เอ็นพีแอล”

24 ตุลาคม 2563

ธปท. ประกาศต่อเวลา “พักหนี้” ถึงสิ้นปี 2563 ให้แบงก์คงสถานะลูกหนี้ไม่ถูกปรับเป็น “เอ็นพีแอล” เร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ นับหนึ่งใหม่ ม.ค. 2564 พร้อมเปิดทางให้กลุ่มลูกหนี้ที่จ่ายไหว ขอพักหนี้ต่อได้ถึงสิ้น มิ.ย. 2564

งัดแผนแก้หนี้ครบวงจร

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวทางแก้ปัญหาจะต้องปรับจากการใช้มาตรการปูพรมแบบเหมาเข่ง เนื่องจากช่วงแรกปัญหามาเร็วและแรง ทำให้การดำเนินมาตรการทั้งในส่วนนโยบายการเงิน-การคลังต้องทำแบบปูพรม แต่ปัจจุบันบริบทเศรษฐกิจ-การฟื้นตัวเปลี่ยนไป จึงต้องปรับจาก “ปูพรม” เป็น “targeted” ตรงจุด ยืดหยุ่น ครบวงจร

“โจทย์ไม่ใช่เฉพาะการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แต่ต้องมองไปใน 2 ปีข้างหน้าว่าจะเจออะไรบ้าง และจะมีเครื่องมืออะไรมารองรับ ไม่ใช่แค่การแช่แข็งหนี้และให้สินเชื่อ แต่ต้องทำให้การปรับโครงสร้างหนี้อย่างเร็ว และท้ายที่สุดวิธีการจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) รวมถึงต้องมีเครื่องมือครบและหลากหลาย เพราะปัญหายาวและมีความไม่แน่นอนสูง”

ต่อเวลาให้ลูกหนี้ถึงสิ้นปี

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ขณะเดียวกันต้องคิดถึงผลข้างเคียงด้วย เพื่อไม่ให้การแก้ปัญหาระยะสั้นบั่นทอนการฟื้นตัวในระยะยาว เช่น มาตรการพักหนี้ที่จะสิ้นสุด 22 ต.ค.นี้ ซึ่งเป็นประกาศช่วงที่มีการล็อกดาวน์ จึงแช่แข็ง แต่เวลาผ่านไปมีการฟื้นตัว ทำให้การแช่แข็งไม่ใช่โจทย์ จึงหันมาทำมาตรการให้ตรงจุด และแยกแยะ เช่น คนที่ผ่อนไหวผ่อนได้ หรือกลุ่มคนที่ชำระไม่ได้ก็มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ และให้เวลามาคุยกับธนาคารถึงสิ้นเดือน ธ.ค. หรือกลุ่มคนที่มีปัญหากระแสเงินสดก็สามารถคุยกับธนาคารเพื่อต่อมาตรการพักชำระหนี้ได้ 6 เดือน ถึง มิ.ย. 2564

“ผลข้างเคียงมีเยอะ และหากเราสร้างแรงจูงใจไม่ได้ จะกลายเป็นวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ หรือ moral hazard ซึ่งอันตรายมาก และขยายวงกว้างจะไม่ดีต่อระบบ และหากพักหนี้นาน 1 ปี กระแสเงินสดจะหายไปจากระบบปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งกระทบเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน เพราะเราต้องคำนึงถึงคนอื่นด้วยนอกจากลูกหนี้ เช่น ผู้ฝากเงิน สถาบันการเงิน และ ธปท.จะมีแนวทางอื่น ๆ ที่จะทำให้สอดคล้อง แต่แนวทางการดูแล ยาที่จะออกมาเพิ่มเติมกำลังดูอยู่ ต้องใช้เวลา ไม่สักแต่คลอดมาตรการ แต่ยาต้องได้ผลด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีความเร่งด่วน”

คงสถานะลูกหนี้ไม่ถูกปรับ “เอ็นพีแอล”

นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ที่ได้รับการพักหนี้ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 มีลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เข้าโครงการทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้ราว 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ 9.5 แสนล้านบาท ลูกหนี้ 2.7 แสนบัญชี และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ วงเงิน 4 แสนล้านบาท จำนวน 7.8 แสนบัญชี

ในส่วนของธนาคารพาณิชย์สามารถติดต่อพูดคุยกับลูกค้าได้แล้ว 94% ซึ่งในจำนวนนี้ราว 50-60% สามารถกลับมาชำระหนี้ได้หลังสิ้นสุดมาตรการ ส่วนที่เหลือยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อ และมีประมาณ 6% วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวนลูกหนี้ 1.6 หมื่นบัญชี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ เช่น โทรหาไม่เจอ ปิดกิจการ หรือย้ายที่อยู่ เป็นต้น

“ธปท. อยากขอความร่วมมือให้ลูกหนี้ที่ยังไม่ได้พูดคุยกับธนาคาร ให้เข้ามาเจรจาภายใน 31 ธันวาคมนี้ โดยลูกหนี้จะได้รับการคงสถานะพักหนี้ไว้เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เป็นเอ็นพีแอล”

โดย ธปท.ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานะจัดชั้นลูกหนี้ถึงสิ้นปี 2563 (stand still) สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เท่ากับว่านับจากวันที่ 23 ต.ค. ถึง 31ธ.ค. 2563 หากลูกหนี้อยู่ระหว่างการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน ก็จะได้รับสิทธิในการพักชำระหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว และจะไม่ถูกปรับเป็น “เอ็นพีแอล” กรณีที่ยังไม่มีการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย โดยจะมีการเริ่มต้นนับหนึ่งในการปรับโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564

สำหรับมาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้หลังจากนี้จะเป็นมาตรการรองรับลูกหนี้แต่ละกลุ่มตามอาการ ซึ่งขณะนี้ลูกหนี้แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการซึ่งมีกว่า 60% ของยอดหนี้ 2. กลุ่มที่กลับมาดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่ฟื้นตัว ให้สถาบันการเงินดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามความสามารถลูกหนี้

3. กลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ หลังหมดโครงการ ธปท. ให้แบงก์ขยายเวลาพักหนี้เป็นรายกรณีได้อีกไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 หรือภายใน 30 มิ.ย. 2564 และ 4. กลุ่มที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน ประมาณ 6% ของยอดหนี้

ที่มา  :  ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์

https://www.prachachat.net/finance/news-543177

Share