ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

หยุดงานก่อสร้าง บ้าน-คอนโดรอโอน 2.7 แสนล้านสะเทือน

01 กรกฎาคม 2564

          คำสั่งปิดไซต์งานก่อสร้างและห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในคลัสเตอร์กลุ่มผู้ใช้งานแรงทั้งที่เป็นคนไทย และแรงงานต่างด้าว กลายเป็นเรื่องร้อนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะทุกโครงการต้องหยุดชะงักสร้างไม่ได้โอนไม่ได้ ทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหายหลักหมื่นๆ ล้านต่อเดือน

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ขายไปแล้วอยู่ระหว่างก่อสร้างและเตรียมโอนให้กับลูกค้า ซึ่งจะกระทบทั้ง 2 ฝั่ง คือทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า มีบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ขายแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างรวม 51,153 หน่วย เป็นบ้านจัดสรร 5,117 หน่วย และเป็นคอนโดถึง 46,036 หน่วย มีมูลค่ารวมกัน 274,716 ล้านบาท เป็นบ้านจัดสรรมูลค่า 28,344  ล้านบาท และคอนโดมูลค่าสูงถึง 246,372 ล้านบาท

          ตัวเลขนี้นับถึงสิ้นปี 2563 จนถึงปัจจุบันน่าจะมีบ้านและคอนโดที่สร้างเสร็จและโอนไปได้แล้วจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังเหลืออยู่อีกไม่น้อยที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างเพื่อที่จะต้องโอนในปีนี้และปีต่อๆ ไป การสั่งหยุดงานก่อสร้างย่อมส่งผลกระทบต่อบ้านและคอนโดที่กำลังก่อสร้าง และรอโอนให้ผู้ซื้อที่จะต้องล่าช้าออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จนทำให้แกนนำของแต่ละสมาคมที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้รัฐผ่อนปรนมาตรการในบางเรื่อง เพื่อยังทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

          ล่าสุด สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้ทำหนังสือส่งถึงศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) เพื่อขอทราบความชัดเจนในการก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่มิใช่โครงการจัดสรรให้สามารถดำเนินการสร้างต่อได้ โดยนายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า จากการพิจารณาตามราชกิจจานุเบกษาออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๕)

          ไม่ได้มีเป้าประสงค์ให้ปิดสถานที่ก่อสร้างประเภทอาคารบ้านพักอาศัยที่มิได้เป็นโครงการจัดสรร ซึ่งหมายถึงบ้านพักอาศัยของประชาชนทั่วไปที่สร้างบ้านที่ดินของตนเอง เนื่องจากมิได้เป็นโครงการขนาดใหญ่หรืออาคารสาธารณะที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก และไม่ได้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปในวงกว้าง

“จึงยังมีความเข้าใจที่คาดเคลื่อนและตีความไม่ตรงกันทั้งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าพนักงานท้องถิ่น รวมถึงประชาชนโดยทั่วไป ทำให้เกิดข้อโต้แย้งที่ยังไม่มีข้อสรุป” นายวรวุฒิ กล่าว

          สมาคมในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจรับสร้างบ้านบนที่ดินของประชาชน ที่ปัจจุบันมีงานก่อสร้างบ้านพักอาศัยสร้างเองกระจายอยู่ทั่วในกรุงเทพฯและปริมณฑลหลายพันหลังต่อปี มีแรงงานก่อสร้างเป็นหลักสิบคน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ของผู้ติดเชื้อจำนวนมากได้ อีกทั้งสมาชิกของสมาคมยังมีมาตรการในการป้องกันโควิดเป็นอย่างดี ซึ่งจากที่ผ่านมาพบว่าไซต์งานก่อสร้างของสมาชิกยังไม่มีที่ใดติดเชื้อโควิด-19

ทั้งนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศยังคงพอเดินไปได้ คนหลายหมื่นคนยังพอมีงานทำ ทางสมาคมจึงต้องการได้รับการยืนยันเพื่อความชัดเจนว่าการก่อสร้างบ้านพักอาศัยที่สร้างเองที่มิใช้โครงการจัดสรร สามารถดำเนินงานก่อสร้างต่อไปได้ ดังนี้

1.ตามราชกิจจานุเบกษามิได้รวมถึงการก่อสร้างและต่อเติมบ้านพักอาศัยเพื่ออยู่เอง

2.กรณีแรงงานมิได้พักอาศัยในสถานที่ทำงาน สามารถเดินทางมาทำงานได้ตามปกติ

3 สมาคมอสังหาฯขอผ่อนปรนลดผลกระทบ


          ก่อนหน้านี้ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐผ่อนปรนเงื่อนไขในประกาศ โดยขอให้ภาครัฐเร่งตรวจแต่ละไซต์งาน ถ้าโครงการไหนไม่มีผู้ติดเชื้อขอให้เร่งเปิดให้โครงการก่อสร้างต่อไปได้ รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยเร็ว

          ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ที่ผ่านมาการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไซต์งานก่อสร้างได้นั้น เพราะการก่อสร้างในส่วนของคอนโดมิเนียมมีการว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก การควบคุมคนงาน คุมผู้รับเหมารายย่อยขึ้นอยู่กับผู้รับเหมาหลัก ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติในงานก่อสร้าง

          ทางผู้ประกอบการเอื้อมไปไม่ถึงการอยู่อาศัยในแคมป์ของคนงาน ไม่ใช่ว่าเรามีอำนาจสั่งการแล้วปล่อยปละละเลยไม่ทำ แต่เราไม่มีสิทธิ์ไม่มีอำนาจเอื้อมเข้าไปในส่วนที่เป็นแคมป์คนงาน ทางผู้รับเหมาหลักจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสั่งการคนงานทั้งหมด

เร่งคัดกรอง-ฉักวัคซีย เปิดไซต์ที่ไม่ติดเชื้อ
          เมื่อการปัญหาในครั้งนี้รัฐบาลมุ่งมาที่กลุ่มแรงงานก่อสร้างโดยเฉพาะ หากคิดในเชิงตรรกะเมื่อกล่าวโทษว่ากลุ่มแรงงานก่อสร้างเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็สมควรที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ

1.เข้ามาตรวจคัดกรองในไซต์งาน เพื่อแยกผู้ที่ติดเชื้อออกไป เพื่อที่ผู้ไม่ติดเชื้อจะได้ปลอดภัย ไซต์งานไหนที่ไม่มีผู้ติดเชื้อก็ขอให้เปิดเพื่อให้ก่อสร้างต่อไป

2.จัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับกลุ่มแรงงานก่อสร้างทันที เพราะรัฐมีอำนาจในการจัดสรรวัคซีนอยู่แล้ว สามารถทำคู่ขนานไปกับการตรวจคัดกรองเชื้อโรคได้เลย เพื่อที่จะไม่เป็นปัญหายืดระยะเวลาการปิดแคมป์งานก่อสร้างต่อไปอีก 15 วัน หรือ 30 วัน

          นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐช่วยผ่อนปรนในกรณีการซ่อมเก็บงานบ้าน-คอนโดฯที่สร้างแล้วเสร็จ กรณีที่ลูกค้าเข้ามาตรวจงานและขอให้เก็บงานให้เรียบร้อย ซึ่งจะใช้แรงงานเพียง 2-3 คนเท่านั้น และใช้ระยะเวลาในการแก้ไขงานเพียง 1-3 วันเท่านั้น เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมทั้งหมดเซหรือล้มลง

          ขณะที่นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า หากภาคเอกชนจะออกมาเรียกร้องก็ต้องปรับมาตรฐานให้ดีพอก่อน เพื่อให้ภาครัฐได้เห็นว่ามีการดำเนินการอย่างจริงจัง หากไม่แก้ไขก็ยังจะมีการติดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง

          ขณะเดียวกันภาครัฐก็ควรมีมาตรการในทิศทางเดียวกันก่อน คือควรรวบรวมข้อมูลกันแล้วออกมาเป็นมาตรการหลัก ไม่ใช่แต่ละหน่วยงานแห่กันออกมาตรการของตนเองออกมามากมายไปหมด โดยไม่เคยลงมาดูที่ไซต์งาน จึงไม่รับรู้ถึงปัญหาที่จะตามมาอย่างมหาศาล ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักไป ส่งผลให้ Margin หายไปเกือบ 10%

          ด้านนายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ผู้ประกอบการทุกรายเห็นถึงความสำคัญของการแพร่ระบาดโควิด-19 และพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ถ้าแคมป์ไหนไม่มีการติดเชื้อก็ควรที่จะมีการผ่อนปรน หากผ่อนปรนที่ต้นเหตุได้ โดยไม่ได้มีการเพิ่มการแพร่ระบาดมากนัก ภาครัฐก็จะไม่ต้องมีภาระค่าเยียวยามาก แต่หากหยุดงานก่อสร้าง 1 เดือน ผู้ประกอบการก็จะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่ม ทำให้มีความเสียหายต่อเดือนประมาณ 12,000 ล้านบาท

          “ดังนั้น หากไซต์งานที่มีการควบคุมความเสี่ยงได้ และปลอดภัย ภาครัฐก็ควรผ่อนปรนให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ความเสียหายก็จะลดลง รัฐก็ลดภาระในการเยียวยา แต่ไซต์ไหนมีความเสี่ยงก็ปิดไป ซึ่งเคยใช้ได้ผลแล้วที่จังหวัดสมุทรสาคร”


           ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า การให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นเวลา 1 เดือน ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดลงทันที ส่งผลกระทบให้ธุรกิจก่อสร้าง ในประเทศไทยได้รับผลกระทบในวงกว้าง เนื่องจากในกรุงเทพมหานครมีแคมป์คนงานที่อยู่ในไซต์งาน ประมาณ 120 แห่ง แคมป์คนงานที่อยู่นอกไซต์ อีกประมาณ 480 แห่ง โดยเฉพาะงานที่ต้องทำต่อเนื่อง งานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย รวมถึงเรื่องสัญญาก่อสร้าง สัญญาการว่าจ้างบริษัทรายย่อยที่จะมีผลตามมาอีกมาก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จึงมีข้อเสนอให้มีการผ่อนปรนให้สามารถทำงานได้ต่อไป

          ทั้งนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้พิจารณาเห็นถึงความไม่ปลอดภัยและผลเสียที่อาจเกิดต่อเนื่องตามมาในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นผลให้อุตสาหกรรมก่อสร้างซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ ไม่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ในทันที แม้เมื่อถึงเวลาที่ภาครัฐอนุญาตให้ทำการก่อสร้างต่อไปได้ เพราะประสบปัญหาที่ต้องมาแก้ไขในทางวิศวกรรมอย่างมาก จึงใคร่ขอเสนอแนวทางเพื่อขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาผ่อนปรน หรือบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ยังคงยึดมั่นและพร้อมปฏิบัติตามแนวทางเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคเป็นหลัก โดยแนวทางที่ขอเสนอท่านเพื่อพิจารณามีดังนี้

1.กรณี Camp ที่พักคนงานอยู่ในหน่วยงานก่อสร้าง

-ใช้หลักการ Bubble and Seal (ส่งอาหารและวัสดุที่จำเป็นจากภายนอก)

-ให้ตรวจ Swab คนทำงานในหน่วยงานทั้งหมด 100% โดยในช่วง 14 วัน ตรวจ 2 ครั้ง

-สนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีน

หมายเหตุ : ได้รับแจ้งว่าคนงานบางกลุ่มมีกำหนดฉีดวัคซีนแล้ว แต่หลังมีข้อกำหนดให้ปิดการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่อนุญาตให้ออกไปฉีดวัคซีน

2.กรณี Camp ที่พักคนงานอยู่ห่างจากหน่วยงานก่อสร้างที่ต้องมีการเดินทาง ไป – กลับ

-กำหนด Bubble and Seal และตรวจ Swab คนงานที่อยู่ในที่พัก และเมื่อคนงานใดได้นัดหมายให้ ฉีดวัคซีน อนุญาตให้ไปตามกำหนดนัดแล้วแยกออกจากบุคคลอื่น

-หากหน่วยงานก่อสร้างมีส่วนของงานที่ต้องดำเนินการ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในด้านวิศวกรรม เช่น การทำชั้นใต้ดินที่มีการขุดดินคงค้าง การทำฐานรากที่คงค้าง การทำท่อลอดใต้ดิน เป็นต้น ขอให้คัดคนงานที่มีจำนวนเพียงพอกับส่วนงานนั้น ๆ เข้าไปดำเนินงานและจัดให้พักในหน่วยงาน ไม่ต้องไป – กลับ และให้ Bubble and Seal หน่วยงาน (มีการจัดส่งอาหารและวัสดุจากภายนอก เข้ายังหน่วยงาน)

3.สำหรับพนักงาน Site office และ safety officer ของหน่วยงาน

-อนุญาตให้เข้าหน่วยงานเพื่อดูแลความปลอดภัยด้านวิศวกรรม

-ผู้ที่เข้าหน่วยงานต้องเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม

 

สำหรับงานก่อสร้างที่ไม่สามารถหยุดดำเนินการได้เพราะจะส่งผลเสียต่อเนื่องและเป็นอันตราย ทั้งต่อโครงการและสาธารณะนั้น ได้แก่

1.ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane) ที่กำลังติดตั้ง หรือที่ยังไม่ได้ยึดรั้งให้เกิดเสถียรภาพ

2.งานทำฐานราก งานทดสอบเสาเข็ม งานก่อสร้างชั้นใต้ดิน งานกำแพงกันดิน ที่ทำงานคงค้างไว้ และต้องทำต่อเนื่องจนถึงระดับผิวดินจึงจะมีความปลอดภัย

3.พื้นคอนกรีตอัดแรง (Post Tension) จะต้องดึงลวดอัดแรงเมื่อคอนกรีตได้กำลังตามที่กำหนดไว้ รวมถึงการดูแลการค้ำยันชั่วคราวเพื่อรองรับพื้น

4.งานนั่งร้านค้ำยันชั่วคราว (Temporary Shoring) ต้องจัดการเพิ่มความแข็งแรงและเสถียรภาพ

5.งานดันท่อลอด (Pipe jacking) งานประเภทนี้ไม่ควรให้มีการหยุดดำเนินการเพราะเมื่อหยุดการ ดันท่อลอดเป็นระยะเวลานาน เมื่อกลับมาดำเนินงานต่อจะไม่สามารถดันท่อต่อไปได้ ต้องแก้ไขด้วยการเปิดดินจากด้านบนเป็นวงกว้าง เป็นผลกระทบต่อสาธารณชน ในบางพื้นที่อาจไม่สามารถดำเนินการได้

6.งานก่อสร้างเบ็ดเตล็ดที่ใช้คนทำงานไม่เกิน 15 คน เป็นส่วนงานที่ปริมาณคนไม่มาก สามารถดำเนินการ Bubble and Seal ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ยินดีจัดส่งบุคลากรเพื่อช่วยสนับสนุนเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานเขตกรณีต้องพิจารณาเกี่ยวกับงานใดที่ควรทำต่อเนื่องเพื่อความปลอดภัยและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ยังคงให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคตามที่ภาครัฐได้กำหนดไว้

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ภาครัฐจะยอมผ่อนปรนเพื่อให้ธุรกิจอสังหาฯได้หายใจหายคอกันต่อไปได้ หรือจะยืนยันตามแนวทางเดิม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดให้ได้ในระดับที่น่าพอใจก่อน โปรดติดตาม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ThaiProprtyMentor https://thaipropertymentor.com/archives/12307

โดย คุณวราพงศ์ ป่านแก้ว  

Share