ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

อุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในเมียนมา

05 กรกฎาคม 2560

         ในช่วงเวลาประมาณ 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศสหภาพเมียนมาเริ่มเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนของต่างชาติมากขึ้น และด้วยการเป็นประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรจำนวนมาก มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน และเป็นประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงานในระดับสูง ค่าจ้างแรงงานค่อนข้างต่ำ อีกทั้งมีแรงงานจำนวนหนึ่งเคยเข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงสามารถนำความรู้และประสบการณ์กลับไปประกอบกิจการและพัฒนาประเทศ มีเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญและพร้อมรองรับการขยายตัวของการลงทุน เช่น ย่างกุ้ง เมียวดี มะริด และทวาย มีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ เป็นฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมรวมทั้งเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ เพราะเป็นเสมือนประตูเชื่อมโยงไปสู่ทั้งกลุ่มประเทศในอาเซียนและเอเชียใต้ สร้างความสะดวกในการติดต่อทางการค้า และการส่งสินค้าผ่านชายแดนไปยังประเทศต่างๆ

อุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในเมียนมา, เมียนมา, การลงทุนในเมียนมา, ลงทุนในเมียนมา, การลงทุน, อุตสาหกรรมเมียนมา

         ประธานาธิบดี เต็ง เส่ง มีทิศทางการปฏิรูปเศรษฐกิจจากระบบรวมศูนย์อำนาจ (Central Planning) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market Economy) และมุ่งกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมหภาค การค้าการลงทุน และการเงินการธนาคาร

         นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม การดำเนินมาตรการส่งเสริมและดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยการกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษและให้สิทธิประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ ทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุน ในเมียนมามากขึ้น รวมถึงกำหนดแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม 30 ปี มุ่งเน้นไปที่การเกษตร โดยเฉพาะเกษตรแปรรูป อุปกรณ์ทดแทน เครื่องจักรนำเข้า และชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ

         ขณะเดียวกัน รัฐบาลเมียนมาก็ให้ความสำคัญกับเขตนิคมอุตสาหกรรมชายแดนไทย – เมียนมาใน 3 เมืองใหญ่ ประกอบด้วย เมียวดีในรัฐกะเหรี่ยงอุตสาหกรรมเมืองพะอัน และเมาะลำไยในรัฐมอญ โดยเฉพาะเมียวดี ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของไทย และมีนิคมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นส่วนที่สอดรับกับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดของฝั่งไทยที่ได้จัดตั้งไปแล้ว เพื่อเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกและตะวันตก (East – West Economic Corridor) การเปิดประเทศและปฏิรูประบบเศรษฐกิจข้างต้นส่งผลให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) หลั่งไหลเข้าไปในเมียนมาสูงขึ้นเป็นลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านพลังงานและเหมืองแร่ ภาคการผลิต และโรงแรมและการท่องเที่ยว ขณะที่พัฒนาการของประเทศที่มีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นทำให้สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาคืนสิทธิพิเศษทางการค้า และสหรัฐอเมริกาก็กำลังพิจารณายกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและให้สิทธิพิเศษทางภาษีตามมาด้วย

         ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหลักที่น่าสนใจและมีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในเมียนมา มีดังนี้

อุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในเมียนมา, เมียนมา, การลงทุนในเมียนมา, ลงทุนในเมียนมา, การลงทุน, อุตสาหกรรมเมียนมา

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
         ในปัจจุบันมีโรงงานจำนวนมากที่ตั้งอยู่ใกล้กับย่างกุ้ง เนื่องจากมีสาธารณูปโภคและท่าเรือที่มีความพร้อมมากที่สุด และมีนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว เช่น ผะอัน พะโคและผะเต ส่วนใหญ่ดำเนินการผลิตแบบ Cutting Marking Packaging (CMP) ทำให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบโดยปลอดภาษี อย่างไรก็ตาม กระแสและโอกาสแฟชั่นของสหภาพเมียนมาเริ่มจะมีมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่ชาวเมียนมาเริ่มมีรายได้มากขึ้น จึงหันมานิยมใช้สินค้าแบรนด์มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีตรา สินค้าของไทย ซึ่งชาวเมียนมามีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาถึงโอกาสการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะในรูปแบบของการร่วมหุ้นส่วนกับธุรกิจท้องถิ่นในเมียนมา เพื่อลดต้นทุนด้านการขนส่งและขยายตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

อุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในเมียนมา, เมียนมา, การลงทุนในเมียนมา, ลงทุนในเมียนมา, การลงทุน, อุตสาหกรรมเมียนมา

อุตสาหกรรมก่อสร้าง
         สหภาพเมียนมายังคงต้องการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม ทั้งในด้านระบบไฟฟ้า น้ำประปา การขนส่งทางถนน สนามบิน รถไฟ และเทคโนโลยีสารสนเทศ (เช่น ระบบอินเตอร์เน็ต) ขณะที่กฎระเบียบและการบริการด้านการเงินยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น รัฐบาลจึงมีดำริเชิงนโยบายที่จะเปิดโอกาสให้ทุนต่างชาติเข้าไปพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคในพื้นที่ต่างๆ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงและพัฒนาเศรษฐกิจการค้าในระยะต่อไป โดยเฉพาะเมืองทวาย ซึ่งได้รับการส่งเสริม การพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจะถูกสร้างขึ้นพร้อมกับระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นการร่วมทุนจากนักลงทุนทั่วโลกและไม่ใช้งบประมาณจากรัฐบาล รวมทั้งยังสามารถเชื่อมโยงสินค้าจากตะวันออกกลางและอินเดีย ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในแถบทะเลจีนใต้ เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมไปถึงประเทศต่างๆ ในอาเซียน และมีเส้นทางผ่านไทย คือ จังหวัดกาญจนบุรีไปสู่ท่าเรือแหลมฉบัง

บริการท่องเที่ยว
         สหภาพเมียนมามีสถานที่ท่องเที่ยวในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมถึงเชิงอนุรักษ์หลายแห่งที่มีเสน่ห์ เช่น เนปิดอร์ ย่างกุ้ง หงสาวดี เกาะสอง พุกาม ท่าตอน ตานต่วย พีนอูหวิ่น และมัณฑเลย์ขณะที่เมืองเมาะละแหม่ง ก็เป็นเมืองตากอากาศชายทะเลแห่งสำคัญของประเทศตัวอย่างของสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่น อาทิ เมืองพุกาม ซึ่งเป็นที่ตั้งของเจดีย์หมื่นองค์ ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นเมืองมรดกโลก (World Heritage Sites) และนักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เมืองท่าตอน ซึ่งมีชาวมอญเป็นชนเผ่าแรกที่สร้างอารยธรรมขึ้นเป็นเอกลักษณ์ของตน และได้สถาปนาอาณาจักรสุวรรณภูมิเป็นอาณาจักรแห่งแรกบริเวณใกล้เมือง หรือเมืองตานต่วย ก็มีหาดงาปาลีที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ ดังนั้นการเข้าไปลงทุนในกิจการด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงแรม รีสอร์ท และร้านอาหาร จึงยังเปิดกว้างอีกมากสำหรับผู้ประกอบการไทย

อุตสาหกรรมที่น่าสนใจลงทุนในเมียนมา, เมียนมา, การลงทุนในเมียนมา, ลงทุนในเมียนมา, การลงทุน, อุตสาหกรรมเมียนมา

         นอกเหนือจากอุตสาหกรรมหลักดังกล่าวข้างต้น ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่นักลงทุนไทยอาจพิจารณาเกี่ยวกับศักยภาพ และศึกษาข้อมูลในรายละเอียดเพื่อแสวงหาลู่ทางในการลงทุนยังเมียนมาได้ อาทิ

         - อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขั้นปลาย อาทิ การตัดหนัง ขัดหนังประกอบและตกแต่ง มีจุดแข็งของอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ประเทศมีที่ตั้งใกล้กับแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ บังคลาเทศและปากีสถาน ประกอบกับมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อมากขึ้นและมีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

         - อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีโรงงานผลิตส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่บริเวณย่างกุ้ง และเป็นผู้ผลิตระดับครัวเรือน โดยมีเมืองเมียวดีเป็นเมืองที่น่าลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว

         - อุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลแปรรูป เนื่องจากมีเมืองเกาะสอง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับจังหวัดระนอง และมีแม่น้ำกระบุรีไหลผ่าน เป็นเมืองที่ส่งเสริมสุขภาพและเมืองท่าตอน ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลฝั่งทะเลทางตอนใต้ของประเทศ เป็นสองเมืองที่อยู่ใกล้แหล่งสัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศ จึงเหมาะสมกับการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้

         - อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เพราะเมียนมามีไม้คุณภาพดีอยู่เป็นจำนวนมาก (เช่น ไม้ยางพารา) โดยเฉพาะในเมืองเมาะละแหม่ง ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐมอญ

         - อุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยเฉพาะในเมืองพีนอูหวิ่น อันเป็นเขตปริมณฑลของมัณฑะเลย์ มีพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรมและปลูกพืชบนพื้นที่สูง เช่น กาแฟ ซึ่งเป็น พืชที่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนปลูกตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

         - ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก โดยเมืองเมียวดีเป็นตลาดการค้าชายแดนที่สำคัญแห่งหนึ่งซึ่งเมียนมาจัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวมทั้งยังเป็นเมืองสำคัญในการกระจายสินค้าจากไทยไปยังเมืองต่างๆ ของเมียนมาอีกด้วย เช่นเดียวกับย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและกระจายสินค้าไปสู่ภาคต่างๆ รวมถึงมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นกว่า 6 ล้านคน

         นอกจากนี้ ยังมีเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางตอนเหนือของประเทศเป็นเส้นทางการค้าระหว่างอินเดียกับจีน รวมถึงมีตลาดเซโจเป็นศูนย์กลางการค้าของชาวเมือง บริการการเงินและการธนาคาร ได้มีธนาคารไทยเริ่มนำร่องไปเปิดสำนักงานที่ย่างกุ้ง และมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุน อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าหัตถกรรม ตอนใต้ของเมืองมัณฑะเลย์ เป็นย่านงานศิลปหัตถกรรมทั้งงานภาพ งานแกะสลัก การสร้างสถูปเจดีย์ การทำแผ่นทองคำเปลว งานหล่อ ที่มีการผลิต ฝีมือตามแบบวิธีโบราณด้วยทอง เงิน หินอ่อน สิ่วเส้นด้ายและหูกทอผ้า และบริการอื่นๆ เช่น อู่ซ่อมรถยนต์ ร้านทำผม และสถาบันฝึกอบรมวิชาชีพ ซึ่งยังมีโอกาสในเขตเมืองย่างกุ้งและหงสาวดี เป็นต้น

         โดยสรุปแล้ว ภาคธุรกิจไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการลงทุนในเมียนมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการที่ไทยมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของเมียนมาทางด้านคุณภาพของสินค้าที่ชาวเมียนมาให้ ความนิยมบริโภคอันเป็นผลมาจากอิทธิพลของการค้าชายแดน การใช้ประโยชน์จากศูนย์กระจายสินค้าของเมียนมาเข้าสู่เมืองต่างๆ อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ในแถบชายแดน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอันใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงประสิทธิภาพในการดำเนินยุทธศาสตร์ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน ธุรกิจไทยก็ต้องรับมือเกี่ยวกับข้อจำกัดของการลงทุนในประเทศเมียนมาด้วย ได้แก่ แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ การขาดแคลนผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจหรือความเชี่ยวชาญด้าน การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ การขาดความพร้อมหรือการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบทางการค้าที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะกฎระเบียบส่วนมากยังล้าสมัย การทุจริตคอร์รัปชั่นในระบบราชการอัตราเงินเฟ้อสูง ค่าขนส่งบริเวณชายแดนที่อยู่ในระดับสูง และระบบข้อมูลข่าวสารที่ยังขาดการพัฒนาและความครบถ้วน เป็นต้น

         ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้ก่อนเข้าไปลงทุนในเมียนมา เพื่อจะสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ จนเชื่อมั่นว่าจะเป็นการลงทุนที่เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.aseanthai.net

Share