
กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Trust)
26 มิถุนายน 2560
กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure Trust เป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะในวงกว้าง ทั้งกิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ ระบบขนส่งทางรางหรือทางท่อ ไฟฟ้า ประปา ถนน ทางพิเศษหรือทางสัมปทาน ท่าอากาศยานหรือสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคมหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พลังงานทางเลือก ระบบบริหารจัดการน้ำหรือการชลประทาน ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ ระบบจัดการของเสีย และกิจการโครงสร้างพื้นฐานหลายกิจการประกอบกันที่มีความเชื่อมโยง ส่งเสริมซึ่งกันและกัน หรือต่อชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
เพิ่มมูลค่าการลงทุนด้วย Infrastructure Trust
Infrastructure Trust เป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนสำหรับภาครัฐและเอกชน นอกเหนือจากการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน โดยบริษัทสามารถระดมทุนโดยการนำกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทลงทุนมาระดมทุนเพื่อนำไปพัฒนาโครงการต่อด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และใช้สินทรัพย์ของโครงสร้างพื้นฐานหรือความสามารถในการทำกำไรของโครงการมาเป็นเครื่องมือในการระดมทุน ทั้งนี้ กองทรัสต์สามารถนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปลงทุนได้ทั้งในโครงการที่สร้างเสร็จและมีรายได้แล้ว (Brownfield Project) และโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ (Greenfield Project)
หลักเกณฑ์ที่สำคัญของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
รูปแบบของกองทุน: กองทรัสต์ เพิ่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
ขนาดของกองทรัสต์:
- ทุนชำระแล้วภายหลังการเสนอขาย > 10,000 ล้านบาท
- กรณีลงทุนหลายโครงการ มูลค่าของทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานแต่ละโครงการ > 3,000 ล้านบาท
การลงทุนของทรัสต์
- กองทรัสต์ต้องลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน >75% ของมูลค่าสินทรัพย์รวม
รูปแบบการลงทุนของกองทรัสต์ สามารถลงทุนได้ 2 รูปแบบ
- ลงทุนทางตรง โดยลงทุนในกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิการเช่า สิทธิสัมปทาน สิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคต สิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคต สิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ หรือสัญญาก่อสร้างหรือสัญญาซื้อขาย
- ลงทุนทางอ้อม โดยการถือหุ้นในสัดส่วน Super majority ของประเทศนั้น แต่ต้อง > 40% ของจำนวนสิทธิออกเสียงในบริษัทที่ลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐาน > 75% ของมูลค่ารวม หรือมีรายได้จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานรวมกัน > 75% ของรายได้รวม
การลงทุนใน Greenfield Project
- กรณีลงทุนใน Greenfield Project > 30% ของมูลค่าทรัพย์สินรวมของโครงสร้างพื้นฐาน จะต้องเสนอขายหน่วยลงทุนต่อนักลงทุนรายใหญ่* เท่านั้น
- กรณีลงทุน Greenfield Project < 30% ของมูลค่าทรัพย์สินรวมของโครงสร้างพื้นฐาน สามารถเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนรายใหญ่* หรือผู้ลงทุนทั่วไปก็ได้
การเสนอขายและการจัดสรรหน่วยทรัสต์
- กรณีเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนรายใหญ่* ต้องมีผู้ถือหน่วย > 2 ราย
- กรณีเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนทั่วไป
o เสนอขายผ่านบริษัทจัดจำหน่าย (Underwriter)
o ต้องมีผู้ถือหน่วย > 250 ราย
o ต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีผู้ถือหน่วยทรัสต์ รายย่อยถือหน่วยทรัสต์รวมกัน > 20 % ของจำนวนหน่วยทรัสต์แต่ละชนิด (Tranche) ที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ และต้องคงสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย > 15% ภายหลังเข้าจดทะเบียน
การกู้ยืม
- ไม่กำหนดวงเงินและสัดส่วนการกู้ยืมในกรณีเป็นกองทรัสต์ที่เสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนรายใหญ่*
- ในกรณี กองทรัสต์เสนอขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปจะสามารถกู้ยืมได้ไม่เกิน 3 เท่าของส่วนทุน
ผู้บริหารจัดการ
ผู้จัดการกองทรัสต์ (Trust Manager) มีคุณสมบัติตามเกณฑ์กำหนด
ข้อจำกัดการถือหน่วยของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกัน
< 50% ของจำนวนหน่วยทรัสต์ทั้งหมด และแต่ละชนิด (Tranche) ถ้ามี
การจ่ายเงินปันผล
> 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว
งบการเงิน
จัดทำมาตรฐานการบัญชีไทย และตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่สำนักงานก.ล.ต.ให้ความเห็นชอบ
การประเมินค่าทรัพย์สิน
- ไม่กำหนดให้มีการประเมินค่าทรัพย์สินในกรณีเป็นกองทรัสต์ที่เสนอขายหน่วยทรัสต์ต่อผู้ลงทุนรายใหญ่*
- ในกรณีเสนอขายหน่วยทรัสต์ให้ผู้ลงทุนทั่วไป ต้องมีผู้ประเมินทรัพย์สินที่มีประสบการณ์หรือมีความเชี่ยวชาญในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน และต้องจัดให้มีการประเมินทรัพย์สินทุก 3 ปี
* ผู้ลงทุนรายใหญ่ หมายถึง ผู้ลงทุนที่ซื้อตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปในครั้งแรก หรือ ซื้อเพิ่มเติมโดยเมื่อรวมกับหน่วยที่ถืออยู่เดิมแล้วคิดเป็นมูลค่า > 10 ล้านบาท
ขอบคุณข้อมูลจาก: www.set.or.th