ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

โครงการริมน้ำยานนาวา

04 กรกฎาคม 2560

ที่มาและความสำคัญ
         แม่น้ำเจ้าพระยาพื้นที่ที่น่ารื่นรมย์ของกรุงเทพมหานครอู่อารยธรรมและทำเลยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเมืองตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน หากแต่พื้นที่ริมน้ำที่สามารถใช้งานได้อย่าง “สาธารณะ” นั้นมีอยู่อย่างจำกัดมาก จากการศึกษาพบว่า ระยะทางริมน้ำของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จากสะพานกรุงธน ถึงสะพานกรุงเทพ (ช่วงพื้นที่เมืองชั้นใน หรือ inner city areas ที่มีความหนาแน่นสูง) ยาวประมาณ 24 กิโลเมตร แต่พื้นที่สาธารณะที่ผู้คนสามารถเข้าไปใช้เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ได้นั้นมีเพียง 3.5 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 14 เท่านั้น จึงไม่แปลกใจที่พื้นที่ริมน้ำเหล่านี้จะเบียดเสียดแออัดไปด้วยผู้คนที่แย่งกันจับจองแย่งกันใช้ในช่วงเทศกาล

         นอกจากนี้ รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จำกัดเพียงการพัฒนาโรงแรมหรือศูนย์การค้า มิใช่การพัฒนา “ย่านริมน้ำ” หรือ Riverfront neighborhood ที่มีการวางแผนและพัฒนาพื้นที่ร่วมกันอย่างบูรณาการ เป็นเอกภาพระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อสมดุลของผลตอบแทนการลงทุนและประโยชน์สาธารณะ

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

         ด้วยสภาพปัญหาของพื้นที่ริมน้ำ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดทำโครงการริมน้ำยานนาวาเพื่อพัฒนาพื้นที่ย่านยานนาวา ให้เป็นพื้นที่ริมน้ำที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นพื้นที่ศักยภาพสูงสุดในการเป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำของกรุงเทพ มหานครและประเทศไทย ที่ตั้งโครงการที่ต่อเนื่องกับย่านศูนย์กลางธุรกิจใจกลางเมือง บางรัก-สีลม-สาทร และติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่โครงการครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่เชิง สะพานตากสินจนถึงโรงแรมชาเทรียม คิดเป็นระยะทางยาวกว่า 1.2 กิโลเมตร

พื้นที่โครงการริมน้ำยานนาวามีศักยภาพสูงสุดในการฟื้นฟูด้วยสาเหตุสำคัญ 4 ประการ
         1) ที่ตั้งของพื้นที่โครงการ: มีความต่อเนื่องกับย่านศูนย์กลางธุรกิจใจกลางเมือง บางรัก - สีลม - สาทร (Bangkok CBD)
         2) การเข้าถึงพื้นที่โครงการ: มีความสะดวกด้านคมนาคมทั้งระบบรถ - ราง - เรือ
         3) การขาดแคลนพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะที่ดี: ย่านบางรัก - ยานนาวา - บางคอแหลม เป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นสูง แต่ยังขาดแคลนพื้นที่โล่งเพื่อกิจกรรมนันทนาการ ออกกำลังกาย และพบปะสังสรรค์
         4) กรรมสิทธิ์ที่ดิน: ที่ดินแปลงใหญ่ที่กว่าร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นของหน่วยงานรัฐและศาสนสถาน จึงมีความเหมาะสมในเชิงกลยุทธ์ที่จะสร้างกระบวนการผลักดันให้ เกิดการ พัฒนาพื้นที่อย่างบูรณาการร่วมกันระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินที่สมดุลระหว่าง “ประโยชน์สาธารณะ” และ “ผลตอบแทนทางการลงทุน” อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ริมแม่น้ำส่วนนี้มีศักยภาพพัฒนาไปสู่ “พื้นที่ริมน้ำแห่งประเทศไทย” (The Riverfront of Thailand) 

วัตถุประสงค์
(1) ปัญหาของการพัฒนาที่ผ่านมา คิดทำแบบแยกส่วน

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

         ในปัจจุบันพื้นที่ริมน้ำย่านยานนาวาหลายแห่งได้ซบเซาลงหรือถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ทั้งๆ ที่มีศักยภาพสูง  อีกทั้งการพัฒนาที่เกิดขึ้นเป็นการดำเนินการแบบแยกส่วน แยกกันทำ ไม่ว่าจะโดยนักพัฒนาที่ดินภาคเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐ จึงทำให้ไม่เกิดการผนึกกำลังที่ทำให้พื้นที่ทั้งหมดต่อเนื่องกันอย่างเป็นเอกภาพ ดังที่เกิดขึ้นตามตัวอย่างในต่างประเทศ  การพัฒนาที่เกิดขึ้นจึงไม่สมน้ำสมเนื้อกับศักยภาพสูงสุดของพื้นที่  อีกทั้งการพัฒนาที่ดินที่ผ่านมามักเป็นการตอบสนองความต้องการในการลงทุนที่อาจให้ความสำคัญน้อยกับประโยชน์สาธารณะและสังคมโดยรวม

(2) พื้นที่ริมน้ำที่หายไปจากใจผู้คน
         
ในเดือนสิงหาคม 2557 คณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลด้านความคิดเห็นผู้คนย่านยานนาวาที่มีต่อพื้นที่ริมน้ำ 2 วิธี คือ การสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม และการสำรวจโดยการใช้การสนทนากลุ่ม ได้ผลลัพธ์ดังนี้

         1) ผลการสำรวจแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้คนย่านยานนาวาที่มีต่อพื้นที่ริมน้ำจำนวน 200 คน พบว่าประมาณร้อยละ 20 ของผู้ตอบแบบสอบถาม “ไม่ทราบถึงการมีอยู่ของพื้นที่ริมน้ำ” แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะอยู่อาศัย เดินทาง ใช้ชีวิตห่างจากแม่น้ำไปประมาณ 200-300 เมตรเท่านั้นเอง  และพบว่าคนส่วนใหญ่ต้องการพื้นที่ริมน้ำประเภท สวนสาธารณะมากที่สุด รองลงมาเป็นทางเดินหรือทางจักรยาน และอันดับสามเป็นลานกีฬาหรือสนามเด็กเล่น

         2) ผลการสำรวจโดยการใช้การสนทนากลุ่มกับชุมชนย่านยานนาวา พบว่าผู้คนต้องการที่จะให้มีการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำโดยพัฒนาและเพิ่มพื้นที่กิจกรรมริมน้ำให้มากขึ้น ,ปรับปรุงสวนสาธารณะใต้บีทีเอสให้สามารถใช้งานได้จริง, ปรับปรุงสภาพแวดล้อม และปรับเปลี่ยนการใช้งานพื้นที่องค์การสะพานปลาให้เหมาะสม, ปรับปรุงการเข้าถึงริมน้ำ เช่น ท่าเรือ ตรอก ซอย และปรับปรุงอู่เรือกรุงเทพ ให้ประชาชนสามารถใช้งานได้

(3) จุดเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนาแบบร่วมหารือ
         ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือUddCเห็นโอกาสในการพลิกฟื้นย่านยานนาวาที่ปัจจุบันประสบปัญหาซบเซาและถูกปล่อยให้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม สู่ “ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำของประเทศไทย” (The Riverfront of Thailand) และริเริ่มโครงการศึกษาการพัฒนาฟื้นฟูย่านริมน้ำยานนาวาแบบพหุภาคี ในเดือนกันยายน 2556 ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคีพัฒนาจากภาคการศึกษา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำไปสู่แนวคิดการพัฒนาฟื้นฟูย่านที่สำคัญ โดยมีแนวคิดหลัก 7 ข้อดังนี้

         1) การฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ร่วมกันอย่างบูรณาการเป็นเอกภาพระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่มีการเวนคืนที่ดิน
         2) การออกแบบเครือข่ายพื้นที่สาธารณะริมน้ำที่มีคุณภาพและสัดส่วนสูง
         3) การออกแบบเขื่อนกันน้ำที่สร้างสรรค์ อเนกประโยชน์ และเหมาะสมกับพื้นที่สาธารณะริมน้ำ
         4) การฟื้นฟูพื้นที่เสริมมูลค่าของพื้นที่และอาคารเก่า ควบคู่กับการอนุรักษ์โบราณสถานและมรดกวัฒนธรรมสำคัญ
         5) การส่งเสริมการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสาธารณูปการสำหรับคนทุกกลุ่ม
         6) การออกแบบระบบขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
         7) การออกแบบโครงการให้เป็นจุดหมายตา (Landmark) สำคัญของแม่น้ำเจ้าพระยา และเชื่อมโยงกับแหล่งมรดกวัฒนธรรมและโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำแห่งอื่น

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

         ศูนย์ฯ ได้นำแนวคิดดังกล่าวมานำเสนอต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ชุมชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมาในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2556 จึงได้มีการจัดการประชุมภาคียุทธศาสตร์ย่านยานนาวาครั้งที่ 1และ การประชุมภาคียุทธศาสตร์ย่านยานนาวาครั้งที่ 2  ซึ่งถือเป็นการร่วมหารือครั้งสำคัญประกอบด้วยภาคีกลุ่มต่างๆ ได้แก่ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ชุมชนและองค์กรภาคประชาสังคม หน่วยงานที่มีหน้าที่ด้านการวางแผนและพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณูปการ หน่วยงานที่มีหน้าที่ด้านการส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะและสังคม และหน่วยงานที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์

         ข้อสรุปสำคัญจากการประชุม คือ ภาคียุทธศาสตร์ที่เข้าร่วมประชุม มีความคิดเห็นในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เห็นด้วยกับข้อเสนอโครงการพัฒนาฟื้นฟูยานนาวาแบบพหุภาคี และให้ UddC ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการสร้างกระบวนการประสานและบูรณาการผลประโยชน์ของทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน เพื่อผลักดันให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม

         นำไปสู่การประชุมภาคียุทธศาสตร์ย่านยานนาวาครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2557 เพื่อสานต่อกระบวนการร่วมหารือระหว่างผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ดังนี้ 1) เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 2) ชุมชนและองค์กรภาคประชาสังคม 3) หน่วยงานที่มีหน้าที่ด้านการวางแผนและพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณูปการ 4) หน่วยงานที่มีหน้าที่ด้านการส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะและสังคม 5) หน่วยงานที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ 6) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนและออกแบบ     

คณะทำงานเฉพาะกิจ (Taskforce)
         ข้อสรุปการประชุมภาคีฯ ครั้งที่ 3 คือ ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำแบบพหุภาคี เชื่อมโยงพื้นที่ริมน้ำ ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร และจัดตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจ การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ”เพื่อร่วมออกแบบวางผังพื้นที่ริมน้ำในช่วงพฤศจิกายน 2557-มกราคม 2558 โดย UddC เป็นตัวกลางในการประสานเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน และหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

         ในการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจฯ การประชุมได้รับความร่วมมือจากตัวแทนจากส่วนต่างๆ ดังนี้
         1) ตัวแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้แก่ กรมทางหลวงชนบท วัดยานนาวา, บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ,เจ้าของที่ดินรายย่อย, กรมธนารักษ์, องค์การสะพานปลา, วัดสุทธิวราราม, บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
         2) สำนักผังเมือง และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร
         3) กรมเจ้าท่า

         การประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจฯ มีจุดมุ่งหมายในการจัดทำผังแม่บทพื้นที่ริมน้ำและผังรายละเอียดพื้นที่ยุทธศาสตร์ ที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการ และแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคียุทธศาสตร์ โดยการสนับสนุนข้อมูล และให้ความเห็นต่อผังแม่บทพื้นทีริมน้ำและผังรายละเอียดพื้นที่ยุทธศาสตร์

จากการประชุมทั้งหมด 5 ครั้ง คณะทำงานเฉพาะกิจฯ ได้ข้อสรุปแนวทางในการดำเนินโครงการริมน้ำยานนาวา และการออกแบบพื้นที่ริมน้ำยานนาวา ดังนี้
(4.1) แนวคิดในการดำเนินโครงการ
         - พื้นที่สาธารณะ ทางเดิน ทางจักรยานริมน้ำคุณภาพสูงเพื่อสุขภาวะที่ดียาวต่อเนื่อง  กัน 1.2 กิโลเมตร ใจกลางกรุงเทพมหานคร
         - พื้นที่สาธารณะที่ออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม (inclusive & universal design)
         - รูปแบบเขื่อนริมน้ำอเนกประโยชน์ ที่บูรณาการเงื่อนไขทางวิศวกรรม ประโยชน์      สาธารณะและการสร้างสรรค์ภูมิทัศน์
         - การพลิกฟื้นและพัฒนาฟื้นฟูย่านยานนาวา ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของกรุงเทพฯ
         - การกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมภายในของย่าน
         - การเพิ่มความหลากหลายให้กับย่านท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ
         - การกระตุ้นการพัฒนาฟื้นฟูของย่านในระยะยาว
         - การสร้างกลุ่มพลเมืองที่กระตือรือร้น (Active citizen) และสร้างเครือข่าย (Institutionalized network) ในการพัฒนาฟื้นฟูเมือง ที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการในอนาคต

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

4.2) ตัวอย่างข้อเสนอการออกแบบพื้นที่ริมน้ำ
บริเวณวัดยานนาวา
         - ปัจจุบัน

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

         - ข้อเสนอการออกแบบ  

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

บริเวณโครงการ The Landmark Waterfron
         -ปัจจุบัน

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

         - ข้อเสนอการออกแบบ

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

(4.3) สรุปจุดเด่นของกระบวนการโครงการริมน้ำยานนาวา
         1) การพัฒนาเมืองที่เจ้าของที่ดินร่วมกันวางแผนพัฒนาแบบไม่แยกส่วนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และไม่มีการเวนคืน
         2) กระบวนการพัฒนาที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และภาคียุทธศาสตร์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคชุมชน  มามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการร่วมหารือไปจนการพัฒนาและการบริหารจัดการ(PPCP : Public Private Community Partnership)

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

(5) งานเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
         ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองจัดงานเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่5 กุมภาพันธ์ 2558  ณ วอเทอร์ฟรอนท์ พรอมานาด โรงแรมแม่น้า รามาดาพลาซ่า ถ.เจริญกรุง

         งานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจากภาคียุทธศาสตร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ อาทิ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรายใหญ่และรายย่อย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ภาคประชาสังคม ตัวแทนผู้ใช้งานพื้นที่ที่หลากหลาย ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อนำเสนอผลลัพธ์ของโครงการซึ่งประกอบด้วยผังแม่บทพื้นที่ริมน้ำผังรายละเอียด พื้นที่ยุทธศาสตร์ริมน้ำ ข้อเสนอแนะเชิงการบริหารจัดการพื้นที่หลังโครงการเสร็จสมบูรณ์ , รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณะ และร่วมสนับสนุนและผลักดันโครงการให้เกิดเป็นรูปธรรม

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

         ผลการจัดงานเวทีรับฟังความคิดเห็นได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน ประชาชนนิสิตนักศึกษา หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 250 ท่าน และยังส่งผลให้โครงการริมน้ำยานนาวา ได้สร้างแรงกระตุ้นในความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการฟื้นฟูพื้นที่ริมน้ำสาธารณะอื่นๆด้วย 

โครงการริมน้ำยานนาวา, ริมน้ำยานนาวา, ย่านริมน้ำ

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.uddc.net

Share