ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

บึงธาตุหลวง: เรื่องที่ต้องจับตามองศูนย์กลางการค้า ท่องเที่ยวกรุงเวียงจันทน์ สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์*

04 กรกฎาคม 2560

         ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีพลเมืองประมาณ 6 ล้านคน กำลังจะจับมือกับจีนในการเนรมิตรให้ บึงน้ำเสียกลางกรุงเวียงจันทร์เป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว การเงิน และแหล่งวัฒนธรรมของเวียงจันทน์

         จะเป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว ให้ไปใช้ชีวิตและทำธุรกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของเวียงจันทน์ให้เป็นเมืองที่โดดเด่นอันดับหนึ่งในลาว และเป็นเมืองที่น่าสนใจของอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่ม GMS (GREATER MAEKONG SUB-REGION) ซึ่งมี 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา เวียดนาม พม่า ลาวและจีน

         สถานที่ดังกล่าว เรียกชื่อว่า “บึงธาตุหลวง” (PHA THAT LUANG LAKE) ซึ่งลาวเรียกว่า SPECIFIC ECONOMIC ZONE (SEZ) เข้าใจว่า ลาวจะให้จีนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง

         “บึงธาตุหลวง” เป็นการนำบึงที่เก็บกักน้ำเสียในกรุงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่ำ มาปรับปรุงโดยทำให้น้ำเสียในพื้นที่ดังกล่าวเป็นน้ำดีและใช้เป็นศูนย์กลางธุรกิจและที่อยู่อาศัย

         รูปแบบการก่อสร้างจะเน้นและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับชีวิตเป็นหลัก จากนั้นเพิ่มเติมสิ่งก่อสร้างต่างๆ เข้าไป “บึงธาตุหลวง” แบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 เขตหลัก ได้แก่ 
         1. เขตท่องเที่ยว
         2. เขตสถานทูตและวัฒนธรรม
         3. เขตธุรกิจการเงิน
         4. เขตพื้นที่พักอาศัยที่เน้น LIFE STYLE แบบใหม่
         5. เขตที่พักอาศัย ที่อิงกับธรรมชาติ
         นอกจากนี้ ยังเน้นให้มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีหอคอยแฝด 2 หอคอย ขนาดใหญ่สูง 150 เมตร

         พื้นที่ในเขตท่องเที่ยว สถานทูต วัฒนธรรมและธุรกิจการเงินนั้น จะเชื่อมต่อกันด้วยถนนและคลอง (คล้ายกันกับคลองเวนิสในอิตาลี) ทำให้เกิดความคล่องตัวในด้านต่างๆ ทั้งการค้า โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว มีจุดขายที่น่าสนใจคือมีร้านขายสินค้า BRAND NAME (ปลอดภาษี) มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจระดับโลก ทั้งโรงแรม 5 ดาว และแหล่งบันเทิง ร้านอาหารระดับโลกและสนามกอล์ฟ

บึงธาตุหลวง, ศูนย์กลางการค้า,ท่องเที่ยวกรุงเวียงจันทน์  , สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์, ลาว, PHA THAT LUANG LAKE, SPECIFIC ECONOMIC ZONE, SEZ

         ลาวพยายามวางกลยุทธ์ให้ประเทศของตนเองเป็น LAND-LINK หรือคือเป็นเมืองเชื่อมเมือง หรือเป็นประเทศที่เชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ ใน GMS แทนที่จะถูกเรียกว่าเป็น LAND-LOCK หรือคือประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเหมือนแต่ก่อน หากเรากางแผนที่และพิจารณากลุ่ม GMS จะเห็นได้ว่า ลาวเป็นคู่แข่งของไทยด้านการเป็น CENTER OF INTERNATIONAL TRANDE AND LOGISTICS IN GMS ลาวมีพื้นที่ติดต่อกับไทย พม่า เวียดนาม กัมพูชา และจีน

         ทุกวันนี้สินค้าอุตสาหกรรมที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันนะเขตของลาว (ที่สะหวันเซโน) ซึ่งห่างจากมุกดาหาร เพียงแค่ 30 นาที สามารถขนส่งไปลงเรือที่ท่าเรืออุ่งหวางทางตอนกลางประเทศเวียดนาม กาแฟและยางพาราที่จัมปาสักทางตอนใต้ของลาว เข้าไทยที่พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี เพื่อขนส่งไปลงเรือแหลมฉบังหรือคลองเตย

ในอนาคต หากมีการปรับเส้นทางให้ดี สินค้าหลายอย่างของไทยในภาคอีสาน
สามารถขนส่งจากนครพนมไปลาว เข้าเวียดนามและจีน 

         ขณะนี้ สินค้าหลายอย่างของจีนขนส่งผ่านลาวเข้าพม่า เพื่อเข้าไทยที่แม่สาย หรือสินค้าไทยขนส่งจากไทยที่แม่สายไปพม่าเพื่อเข้าจีนตามเส้นทาง R3B ขณะเดียวกันสินค้าไทยไปจีนผ่านลาวที่เชียงของไปออกบ่อเต็นที่หลวงน้ำทา และต่อไปจิ่งหง (เชียงรุ้ง) ของจีน เพื่อเข้าคุนหมิง ตามเส้นทาง R3A

         ในอนาคต สินค้าขนส่งโดยรถจากเวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ผ่านเข้าไทยไปพม่า ตามเส้นทาง EWEC (EAST WEST ECONOMIC CORRIDOR) หรือเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ ที่เชื่อมเวียดนาม ลาว ไทย พม่า เข้าด้วยกัน และในอนาคตอันใกล้ สินค้าจากกลุ่ม ACMEC (5 ประเทศในแถบกลุ่มแม่น้ำโขงได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า)และมาเลเซียจะพุ่งต่อไปยังรัฐ 7 สาวน้อย (7 รัฐในภาคอีสานของอินเดีย) ในอินเดียโดยทางรถยนต์

         ลองนึกภาพดูว่า หากขนส่งสินค้าทางเรือจากเวียดนาม กัมพูชา ลาวไปอินเดีย จะใช้เวลา 30 วัน แต่หากเป็นการขนส่งทางรถยนต์ จะใช้เวลาเพียง 15 วันและหากเส้นทางที่เชื่อมระหว่างอินเดียกับพม่า ระหว่างเมืองโมนีหว่า กับกาเลหว่า ในพม่าสร้างเสร็จ การขนส่งทางรถ จากแม่สอด ผ่านพม่าไปไปอินเดียจะใช้เวลาเพียง 10 วัน ด้วยเหตุนี้ หากลาววางกลยุทธ์ให้ประเทศของตนเป็น LAND-LINK ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่สินค้าจากเวียดนาม จะผ่านลาวเข้าไทยไปพม่าและอินเดีย หรือสินค้าไทยผ่านลาว ไปจีนหรือเวียดนาม

         ดังนั้น หากการก่อสร้าง “บึงธาตุหลวง” สำเร็จตามโครงการ ก็จะเกิดผลกระทบที่ติดตามมา ดังนี้
         1. “บึงธาตุหลวง”จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การค้า และการทำธุรกิจของเวียงจันทน์และของลาว
         2. โรงงานอุตสาหกรรมจะอยู่รอบๆเวียงจันทน์ หรือจังหวัดใกล้เคียง แต่ธุรกรรมด้านการเงิน การติดต่อเจรจาขายสินค้า บริการ จะดำเนินการที่ “บึงธาตุหลวง” (เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มีธนาคารต่างชาติในเวียงจันทน์มากถึง 21 แห่ง) จะมีสถานที่แสดงสินค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นใน “บึงธาตุหลวง”
         3. การท่องเที่ยวในอนาคตจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและวัฒนธรรม เช่น นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางหรือผู้มีฐานะดี จะจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เป็นการรักษาสุขภาพ เช่น การรักษาโรคฟัน การรักษาโรคหัวใจ โดยการจัดคณะทัวร์มารักษาที่กรุงเทพ และเที่ยวกรุงเทพหรือจังหวัดใหญ่ๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ จากนั้นก็แวะเที่ยวต่อที่ “บึงธาตุหลวง” แล้วต่อไปกัมพูชา แล้วกลับตะวันออกกลาง
         4. พ่อค้า นักธุรกิจ หรือคนทำงานที่ต้องเดินทางโดยรถยนต์ระหว่างไทย ลาว จีน เวียดนาม พม่า ก็จะใช้“บึงธาตุหลวง”เป็นที่พักรถ หรือพักผ่อน เพื่อความบันเทิง รถยนต์หรูๆ จากจีนที่เคยมาเที่ยวประเทศไทยใน รูปของคาราวานครั้งละ 30 – 40 คัน ก็อาจจะเบนเข็มไปเวียงจันทน์แทนที่จะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย
         5. ศูนย์กลางของ LOGISTICSใน GMS ก็จะเปลี่ยนไป การขนถ่ายสินค้า การกระจายสินค้า การจัดเก็บสินค้า แทนที่จะเป็นหนองคาย อุดร เชียงราย ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเวียงจันทน์
         6. อุดรธานี และหนองคาย ซึ่งเคยเป็นเมืองที่คึกคัก ก็อาจจะคึกคักมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวไทย แทนที่จะบินตรงไปเวียงจันทร์ ก็อาจจะบินไปลงอุดร แล้วต่อรถตู้ไปหนองคาย ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่หนองคายเพื่อต่อไปเวียงจันทน์ โดยใช้เวลา 45 นาที (เหตุที่บินลงที่อุดร เพราะค่าตั๋วเครื่องบินแบบ    LOW COST จะถูกกว่าบินจากกรุงเทพไปเวียงจันทน์ แต่หากลาวกับจีน หรือลาวกับ LOW COST AIRLINE จับมือกันลดค่าตั๋วระหว่างกรุงเทพ เวียงจันทน์ ก็น่าคิดว่า อุดร และหนองคาย จะยังคงคึกคักหรือไม่)
         7. ทุกวันนี้ พ่อค้า แม่ค้าจากเวียงจันทน์ ข้ามโขงผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรกมาซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค จาก MODERN TRADE ที่อุดรและหนองคาย เพื่อนำไปขายที่เวียงจันทน์และเมืองอื่นๆ หากจีนสร้าง“บึงธาตุหลวง”เสร็จ แน่นอนว่าจีนก็จะเป็นคนที่นำสินค้าจากจีนไปขายในลาว ดังนั้น ความคึกคักของอุดรและหนองคายก็จะเบาบางลง

         ผมเชื่อว่า หาก “บึงธาตุหลวง” สร้างเสร็จ ซึ่งคาดว่า น่าจะเป็น 3 - 5 ปี ประเทศไทยจะต้องเตรียมตัวว่า จะรองรับกลยุทธ์ LAND-LINK ของลาวอย่างไร แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาแต่ต้นไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะสู้ลาวไม่ได้ ดังนั้นการค้าระหว่างประเทศ และโลจิสติกส์ระหว่างประเทศใน GMS จึงมีความสำคัญ เพียงแต่ผมมองไปข้างหน้ามากกว่าจะภูมิใจกับอดีตและปัจจุบัน
         ไหนๆ คสช. ก็มีนโยบายและเป้าหมายที่จะปรับปรุงพัฒนาระบบเศรษฐกิจและระบบโลจิสติกส์ของไทย ผมจึงขอเสนอว่า

ประเทศไทยควรจะต้องมีคณะผู้ชำนาญงานด้านการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
แยกเป็นระดับภาคและระดับประเทศ เพื่อกำหนดกลยุทธ์และแผนงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

มิใช่ต่างคนต่างทำหรือต่างคนก็อยากจะทำ แย่งกันทำ สุดท้ายแก้ไม่ได้เรื่องอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
         แต่ผลาญเงินงบประมาณอย่างมากมายครับ... 

ฝาก คสช. พิจารณาด้วยครับ

*สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีบีซีไอ จำกัด
ผู้ชำนาญการและมีประสบการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
สิทธิประโยชน์ภาษีอากร พิธีการศุลกากร มากว่า 30 ปีAEC และ FTA

ขอบคุณที่มาจาก: www.ebcitrade.com

Share