ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

ทุนจีนในอาเซียน

05 กรกฎาคม 2560

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้มีเงินทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ยุโรป เกาหลีใต้และจีน โดยเฉพาะเงินทุนจากจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากและเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 1 ในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง คือในปี 2557

ทุนจีนในอาเซียน, อาเซียน, เศรษฐกิจของจีน, การลงทุนของจีน, การลงทุนของจีนในประเทศไทย

         การลงทุนของจีนในกลุ่มประเทศ สปป.ลาว กัมพูชาและเมียนมา มีมูลค่า 614.3, 553.9 และ 578.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ กรณีที่เม็ดเงินการลงทุนของจีนเข้ามาในอาเซียนเป็นจำนวนมากนั้น นอกจากจะเป็นผลจากปัจจัยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของประเทศต่างๆ ในอาเซียนแล้ว ที่สำคัญยังเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการออกมาลงทุนต่างประเทศตามเส้นทางเชื่อมโยงการค้าใหม่ของจีน (One Belt, One Road หรือเส้นทางสายไหมใหม่ในศตวรรษที่ 21) ซึ่งประเทศไทยก็เป็นเส้นทางหนึ่งที่เป็นเป้าหมายของนักลงทุนจีนที่จะเริ่มจากทางตอนใต้ของจีน

         ในแต่ละประเทศอาเซียนที่ทุนจีนออกไปลงทุน ย่อมมาจากเป้าหมายที่แตกต่างกันไป เช่น โครงการลงทุนต่างๆ ของจีนในเมียนมาส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ การสร้างเขื่อน การก่อสร้างท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางรถไฟที่มีความยาวเกือบ 1,000 กิโลเมตร เป็นต้น ส่วนการลงทุนของจีนในกัมพูชาเป็นโครงการลงทุนในด้านพลังงานไฟฟ้า อสังหาริมทรัพย์ การเกษตรและอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเป็นหลัก เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื่องจากค่าแรงยังมีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

         ใน สปป.ลาว อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนมีต่อ สปป.ลาว นั้น จีนได้โอกาสในการลงทุนและพัฒนาแบบรัฐต่อรัฐที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่รัฐบาล สปป.ลาว ให้สัมปทานแก่กลุ่มทุนจีนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ เขตเศรษฐกิจบึงธาตุหลวง นครเวียงจันทน์ หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนบ่อเต็น-บ่อหาน (พรมแดนลาว - จีน) ซึ่งจุดสิ้นสุดเส้นทาง R3A ได้กลายเป็นเมืองใหม่ของจีน ใน สปป.ลาว ไปแล้ว นอกจากโครงการใหญ่ๆ แล้ว อิทธิพลของทุนจีนยังลงไปถึงระดับการค้าขายในชุมชนเล็กๆ ตามเมืองต่างๆ ของ สปป.ลาว ด้วย เช่น การค้าขายโทรศัพท์มือถือและสินค้าอื่นๆ ของจีนที่ตลาดชายแดนวังเต่า แขวงจำปาสัก-ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี ที่พ่อค้าแม่ขายในตลาดแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนเซี่ยงไฮ้เกือบทั้งหมด

         ส่วนโครงการลงทุนของจีนในสิงคโปร์ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ภาคบริการทั้งด้านการเงิน การธนาคาร การบริการทางธุรกิจ การจำหน่ายสินค้า และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะสิงคโปร์มีคนเชื้อสายจีนจำนวนมากและใช้ภาษาจีนกลางในการสื่อสาร รวมถึงนโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์ด้านการปล่อยสินเชื่อและนโยบายการโยกย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของต่างชาติที่มีการผ่อนปรนมากขึ้น อีกทั้งในจีนได้เริ่มมีนโยบายจำกัดการซื้อบ้านในแผ่นดินจีนแล้ว

         สำหรับการลงทุนของจีนในประเทศไทยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ประเมินว่ายอดการลงทุนของนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยปี 2558 มีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาท และคาดว่าในอีก 3 - 5 ปีข้างหน้าภาคเอกชนจีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากกว่า 100,000 ล้านบาท เป้าหมายของจีนที่มาลงทุนไทยนอกจากจะเพื่อใช้ไทยเป็นตลาดสินค้าของจีนแล้ว ยังมองว่าไทยสามารถเป็นฐานการผลิตส่งออกไปยังประเทศแถบอาเซียน รวมถึงส่งสินค้ากลับไปจำหน่ายในจีน เพราะการผลิตสินค้าด้านการเกษตรที่ไทยมีวัตถุดิบจำนวนมาก โดยเฉพาะวัตถุดิบทางด้านการเกษตร และยังมีเป้าหมายใช้ฐานการผลิตในไทยส่งออกสินค้าไปยุโรปและอเมริกาที่ในบางสินค้าจากจีนถูกกีดกันหากส่งออกไปจากจีนโดยตรง

         นอกจากนี้ จีนยังมียุทธศาสตร์ทางด้านการขนส่งคือการสร้างรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงลงมาถึงนครหลวงเวียงจันทน์ ของ สปป.ลาว ในขณะที่ไทยก็มีโครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากเวียงจันทน์มายังจังหวัดหนองคาย ขอนแก่น นครราชสี สระบุรี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนทั้งของไทยและจีนเพิ่มขึ้น จากการหลั่งไหลของทุนจีนที่เข้ามาในอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยนั้น จำเป็นที่รัฐบาลและนักธุรกิจของประเทศไทยและประเทศสมาชิกต้องมีความพร้อมในการปรับตัวเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าวของจีน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการผลิต การค้า การลงทุน การจ้างงานและรายได้ของประเทศตนให้มากที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.aseanthai.net

Share