ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

กฎหมายโรงงานที่ผู้ประกอบการควรทราบ

20 มิถุนายน 2560

         ตามกฎหมายโรงงานแล้ว "โรงงาน" เป็นอาคารสถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 5 แรงม้า หรือเทียบเท่า หรือใช้คนงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป โดยใช้เครื่องจักรหรือไม่ก็ตาม เพื่อผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุงแปรสภาพ ลำเลียง เก็บรักษา หรือ ทำลายสิ่งใดๆ ตามประเภทหรือชนิดกิจการที่กำหนดในกฎกระทรวงอุตสาหกรรม 104 ประเภท

         กฎหมายโรงงานกำหนดแบ่งโรงงานออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการควบคุมการป้องกันเหตุเดือดร้อน รำคาญการป้องกันความเสียหาย และการป้องกันอันตรายตามระดับความรุนแรงของผลกระทบที่จะมี ต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อม คือ
         โรงงานจำพวกที่ 1 ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิด และขนาด ที่สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ทันที
         โรงงานจำพวกที่ 2 ได้แก่ โรงงานประเภท ชนิด และขนาด ที่เมื่อจะประกอบกิจการโรงงาน ต้องแจ้งให้ผู้อนุญาตทราบก่อน
         โรงงานจำพวกที่ 3 ได้แก่โรงงานประเภท ชนิด และขนาดที่การตั้งจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการ

โรงงานจำพวกที่ 1
         - เป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรไม่เกิน 20 แรงม้า ไม่ก่อปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมหรือเหตุเดือดร้อนอันตราย เช่น ฟักไข่โดยใช้ตู้อบ ซ่อมรองเท้า ทำเครื่องหนัง ทำขนมจีน ไอศกรีม
         - ผู้ผลิตไม่ต้องขออนุญาต
         - ห้ามรับเหมาก่อสร้างโรงงานในบางพื้นที่
         - ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ รวมทั้งออกแบบก่อสร้าง

โรงงานจำพวกที่ 2
         - เป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรเกิน 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า อาจก่อปัญหามลพาหรือเหตุเดือดร้อนรำคาญเล็กน้อยแก้ไขปรับปรุงได้ไม่ยาก เช่น การขุดลอก 
กรวด ทราย ดิน การลำเลียงหิน กรวด/ทราย/ดิน ด้วยสายพานลำเลียงโรงงานผลิตน้ำดื่ม ไอศกรีม โรงผลิตน้ำแข็งใช้เครื่องจักร ไม่เกิน 50 แรงม้า
         - ผู้ผลิตไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนทำงาน
         - ห้ามรับเหมาก่อสร้างโรงงานในบางพื้นที่
         - ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ รวมทั้งออกแบบก่อสร้าง
         - เสียค่าธรรมเนียมรายปี

โรงงานจำพวกที่ 3
         - เป็นโรงงานที่ไปใช้เครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษหรือเหตุเดือดร้อน รำคาญ หรือเหตุอันตรายต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น โรงงานน้ำตาล
โรงงานผลิตกระดาษ โรงงานผลิตสุรา โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น
         - ผู้ผลิตต้องขออนุญาตก่อนเมื่อได้รับใบอนุญาตแล้วจึงตั้งโรงงานได้
         - ก่อนดำเนินกิจการต้องแจ้งขอประกอบกิจการก่อน
         - ห้ามรับเหมาก่อสร้างโรงงานในบริเวณบางแห่ง
         - ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงฯ รวมทั้งออกแบบก่อสร้าง
         - เสียค่าธรรมเนียมรายปี และเสียค่าใบอนุญาตประกอบกิจการ

หมายเหตุ
         1. โรงงานจำพวกที่ 1, 2, 3 ห้ามรับเหมาก่อสร้างโรงงานในบริเวณบ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัยอาคารชุดพักอาศัยและบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย
         2. โรงงานจำพวกที่ 1, 2 ห้ามรับเหมาก่อสร้างโรงงานภายในระยะ 50 เมตร จากเขตติดต่อโรงเรียน สถาบันการศึกษา วัด ศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน สถานที่ทำงานของหน่วยงานของรัฐ แหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง
         3. แวดล้อมตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ต้องตั้งอยู่ในทำเล และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการตามประเภทหรือชนิดของโรงงานโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายเหตุเดือดร้อนรำคาญหรือความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย

โทษทางกฎหมาย
         1. กรณีโรงงานจำพวกที่ 2 หากผู้ประกอบกิจการโรงงานดำเนินการโดยไม่แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
         2. กรณีโรงงานจำพวกที่ 3 หากผู้ใดประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต หรือตั้งโรงงาน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ต้องระวางโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        การประกอบกิจการโรงงานในระหว่างที่มีคำสั่งหยุดประกอบกิจการหรือภายหลังที่มีคำสั่งประกอบโรงงาน จะต้องระวางโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท และยังต้องถูกปรับรายวันอีก วันละ 5,000 บาท จนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งให้แก้ไขปรับปรุง หรือสั่งให้ระงับการกระทำ หรือให้กระทำใดๆ ต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับ และต้องถูกปรับรายวัน วันละไม่เกิน 5,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนเช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.thaifactorypro.com

Share