ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

รู้จุดเสี่ยงการได้ไม่คุ้มเสียของธุรกิจโฮสเทล รีโนเวทยังไงให้ธุรกิจอยู่ได้นาน กับคุณตั้ว “กันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา”

17 พฤษภาคม 2560

          ทุกวันนี้ธุรกิจโฮสเทลผุดขึ้นมากมายไม่ต่างอะไรกับร้านกาแฟ หรือบางที่เปิดร้านกาแฟไปพร้อมๆ กับการทำโฮสเทลก็มี แล้วจะแน่ใจได้ยังไงว่าภาพที่เห็นเป็นอย่างที่คิด เพราะเราไม่สามารถยืนยันได้เลยว่าคนที่ทำธุรกิจประเภทนี้จะทำอยู่ได้นาน และประสบความสำเร็จ แน่นอนว่ากลุ่มที่ไม่ประสบความสำเร็จก็มีเยอะเช่นกัน ถ้างั้นลองมาดูแนวทางดีๆ หรือจุดเสี่ยงที่เราต้องเจอแน่ๆ หากคิดจะเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นโฮสเทลกัน

          และวันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณตั้ว “กันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา” เจ้าของ Boutique Hotel อย่าง “บ้านนพวงศ์” และบริษัท Siam Hotel Maker แถมพ่วงตำแหน่งล่าสุดกับการเป็นกรรมการให้กับ “สมาคมการค้าธุรกิจที่พักบูติกไทย” ที่จัดการประกวด Thailand Boutique Awards ซึ่งจะมาแนะข้อมูลให้กับมือใหม่ รวมถึงคนที่ดำเนินธุรกิจอยู่ด้วย

          จุดเริ่มต้นของคนที่บอกว่า…ฉันพร้อมแล้ว
          คุณตั้วเล่าย้อนถึงประสบการณ์ที่เคยให้คำปรึกษากับเจ้าของโครงการหลายท่านว่า “คนที่อยากมีธุรกิจที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว โรงแรม หรือแม้แต่อพาร์ทเม้นท์ ในลักษณะ passive income เริ่มมาจาก 2 ทาง คือ เป็นรุ่นลูกหลานที่ทำต่อจากรุ่นผู้ใหญ่ที่ปูทางไว้ หรือมีบ้านเก่าของตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งครอบครัวไหนทำกิจการที่พอมีเงินทุนประสบความสำเร็จมาแล้วก็จะมาลงกับธุรกิจนี้ สัดส่วนกว่า 60 % เลยที่รุ่นผู้ใหญ่ตั้งใจทำเพื่อลูกหลาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มี location ดีอยู่แล้วอยากมีรายได้ แม้บางคนมองว่าไม่ได้เป็นรายได้หลัก แต่ก็ไม่อยากจะปิดเอาไว้เฉยๆ กับอีกกลุ่มเป็นวัยรุ่นวัยทำงานที่อยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ตรงนี้ก็มีเหมือนกันจะมาพร้อมกับ passion อยากจะเริ่มต้นธุรกิจ ก็ไปหาเช่าที่ตึกกัน จ้างสถาปนิกกันแล้วเริ่มต้น”

          สำรวจตัวเองง่ายๆ ก่อนคิดจะลงทุนทำโฮสเทล
          ข้อแรกถามตัวเองว่าชอบในงานบริการหรือไม่ ถ้ามีใจรักก็การันตีได้ในระดับหนึ่งแล้วว่าโฮสเทลของคุณจะประสบความสำเร็จ อีกข้อคือ คุณชอบคุยกับผู้คนหรือเปล่า ชอบแนะนำ ช่วยเหลือผู้คนหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานการทำธุรกิจที่พักหรือโรงแรมที่สำคัญ พอมาเจาะที่เป็นโฮสเทลเรียกว่ามีการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมของลูกค้ากับตัว Host ที่เป็นเจ้าบ้าน ก็จะต้องมีความใกล้ชิดมากกว่าโรงแรมในเชิงมาตราฐาน หรือ change hotel ทั่วไป

          ข้อดี VS ข้อเสียของธุรกิจโฮสเทล
          “การทำธุรกิจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จะลงทุนก็ตัดสินใจให้ดี เพราะก็ไม่ได้ง่ายมาก แต่ก็ไม่ได้ยากมากจนเกินไป ข้อเสียก็อย่างที่รู้กันว่าธุรกิจนี้ลงทุนค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว แล้วที่สำคัญต้องใช้ระยะเวลาในการคืนทุนพอสมควร ปัญหาจุกจิกกวนใจเยอะ จริงๆแล้วทำได้แต่ต้องทำให้ถูกทำให้เป็น ถ้าตั้งราคาไม่เป็น location ไม่ได้ เซอร์วิสไม่ได้ Matching กับลูกค้าจะเหนื่อย เพราะฉะนั้นจุดอ่อนผมมองว่า ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเทคนิควิธีการ การบริหารงาน การออกแบบมีความสำคัญ ถ้าคุณพลาดมันจะแก้ยาก อีกอย่างคือ ขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจบริการความหรือแม้แต่โฮสเทลย่อมมีอะไรให้แก้ไขได้ทุกวัน ดังนั้นควรมีพื้นฐานอย่างที่บอกไป”
          ข้อดี คือเป็นธุรกิจสร้างให้ลูกหลานแล้วกลายเป็นธุรกิจครอบครัว มีรายได้ ช่วยกันทำไม่เหงา ส่วนภาพรวมคุณตั้วยังบอกอีกว่า ตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีของกลุ่มธุรกิจเล็กๆ หรือโรงแรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ปรับขนาดเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นโฮสเทลขนานแท้ เพราะนอกจากมีขั้นตอนเริ่มต้นไม่ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ยังมีการจองห้องพักที่เข้าถึงง่ายผ่านอินเทอร์เน็ตบนเว็บไซต์ต่างๆ จึงสามารถแข่งขันได้อย่างเต็มรูปแบบกับโรงแรมใหญ่ๆ ได้

          ปัญหาหลักๆ ที่โฮสเทลต้องเจอ และจะป้องกันอย่างไร?
          จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมหรือโฮสเทลก็ต่างมีปัญหายิบย่อยด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าหลงทาง ของหายโดนขโมย เมาสร้างความสกปรก ดังนั้นสิ่งที่พอจะป้องกันได้บ้างก็เป็นเรื่องระบบต่างๆ ทั้งกล้องวงจรปิด มีพนักงานคอยเป็นหูเป็นตา รวมไปถึงการวางเงินมัดจำ แต่ก็อยากให้ทุกคนทำใจไว้ว่าถึงจะป้องกันขนาดไหนก็เกิดขึ้นได้อยู่ดี เพราะโฮสเทลมีรูปแบบบริการมีความเป็นส่วนตัวน้อยจึงควบคุมยาก เมื่อเทียบกับแบบ luxury ที่ราคาแพงหน่อย หรือมีแบ่งห้องส่วนตัวอย่าง Boutique Hotel
          นอกจากนี้ โฮสเทลหลายๆ ที่อยากจะทำในลักษณะห้องแถวห้องเดียว หรือสองห้องก็ตามบางทีการประหยัดขนาดหรือจำนวนห้อง (economies of scale) ก็ไม่ได้ เช่น จำนวนเตียง จำนวนรายได้ที่จะเข้ามาไม่สมดุลกับค่าใช้จ่าย เพราะถ้ามีทั้งพนักงานจอง พนักงานต้อนรับ ผู้จัดการในขณะที่มีเพียงไม่กี่ห้องก็ไม่สอดคล้องกัน หรือหากเปิด 3-4 ห้องแล้วคิดจะดูแลเองแรกๆทำได้ แต่จะดูแลเองได้ไม่ตลอด บางรายทำทุกอย่างเพื่อ save cost ช่วงแรก แต่ผลระยะยาวตัวคุณเองจะแย่ อีกทั้งถ้าคำนวณการลงทุนที่ปรับปรุงใหม่ก็ใช้งบมาก สเกลไหวไหม ควรคิดเผื่อว่าขายเท่าไหร่ถึงจะได้คืนมา เป็นการวางแผนระยะยาว

          สิ่งที่จะทำให้โฮสเทลเป็นที่ต้องการของผู้มาพัก 
          
อันดับแรกเลยอยู่ที่ location โฮสเทลอยู่ไกลจากย่านรถไฟฟ้า เดินทางลำบากบอกเลยว่ายาก เช่น แถวราชเทวี สยาม พร้อมพงษ์  ดูความเป็นไปได้ว่าเหมาะจะเป็นโฮสเทลไหม ไม่งั้นแนะนำให้ทำ Boutique Hotel ดีกว่า ซึ่ง 2 ส่วนต่อมามีความสำคัญใกล้เคียงกัน คือ service กับconcept  หมายความว่า ใครเอกลักษณ์เด่น พนักงานอัธนาศัยดี เป็นเพื่อนลูกค้า พาไปเดินเที่ยวมี activity พอเซอร์วิสดีลูกค้าก็ไปรีวิว หรืออ่านรีวิวแล้วจองมา มาแล้วดีก็กลับไปโพสต์ต่อ เหล่านี้จึงเป็นอีกรูปแบบที่ดีมาก

          สัญญาณที่บอกว่าโฮสเทลอาจถึงทางตัน
          สำหรับโฮสเทลที่เปิดมาได้สักระยะ การรีวิวนอกจากจะส่งผลดีแต่บางทีหากรักษามาตรฐานเอาไว้ไม่ดี อาจทำให้ความเชื่อถือน้อยลงได้ เช่น เคสตัวอย่างที่พักบางที่ผ่านไปเพียง 3 ปี คะแนนการรีวิวลดน้อยลง หรือแม้แต่ช่วงที่การแข่งขันเยอะ แม้การให้คะแนนจะสูงแต่เมื่อภาพรวมตกอันดับ TOP ไปก็อาจต้องพัฒนาเพื่อดันตัวเองไม่ให้ตกอันดับให้นั่นเอง

          สถานการณ์โฮสเทลตอนนี้ และแนวโน้มในอนาคต
          “โฮสเทลเพิ่มขึ้นตลอดทุกวันถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น ภายใน 2 ปีนี้ถึงจะค่อนข้างอิ่มตัวตอนนี้ยังไม่อิ่มตัวหรอก ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ในด้านการท่องเที่ยว อาจจะเป็นกรุงเทพฯ หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ตเริ่มมีเยอะแล้ว แต่ว่าในจังหวัดอื่นๆที่รองลงมาก็ยังน้อยอยู่ หลังจากนี้ก็มาแข่งขันในเรื่องราคากับคอนเซปต์ดูว่าลูกค้าจะชอบแบบไหน ซึ่งอนาคตตรงนี้กลุ่มที่ถูกต้องเรื่องสเกลก็ไม่เสี่ยง แต่คงจะมีส่วนหนึ่งที่ไปไม่ไหว เช่น ในกลุ่มที่ทำไม่ถูกต้องจะหายไป ผมมองว่า 70% ของโฮสเทลที่เปิดขึ้นมาใหม่ทำไม่ถูกต้อง น่าเสียดายมาก เพราะตัวกฎหมายที่ออกมาให้ไม่ได้ใช้ได้ตลอดไป ภายใน 2 ปีนี้ต้องรีบขอให้เรียบร้อย”

          รู้แบบนี้แล้วใครที่พร้อมก็ต้องรีบกันหน่อย อาจเรียกช่วงนี้ว่าเป็นนาทีทองก็ได้ เพราะสามารถทำแล้วขอใบอนุญาตได้อย่างถูกต้อง หรือถ้าบางคนยังไม่เข้าใจทาง Siam Hotel Maker ก็สามารถแนะนำเรื่องการขอใบอนุญาตเช่นกัน และตอนนี้ก็กำลังจะเปิดบริการครบวงจรแบบ one stop service ในชื่อ “yello rooms” ลักษณะแฟรนไชส์เหมาะกับคนที่อยากเริ่มธุรกิจที่พักโดยไม่เสียเงินหลายต่อ แถมสะดวกในแต่ละขั้นตอนก็ลองศึกษาดูได้ ส่วนใครที่ยังไม่พร้อมแต่ตั้งใจจะทำธุรกิจนี้ในอนาคตก็ควรศึกษาให้ดี คำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุน เมื่อถึงเวลาก็จะเริ่มแบบไม่สะดุด

ที่มา: www.dooddot.com

Share