ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

แนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนาม

05 กรกฎาคม 2560

         แม้สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2560 จะยังคงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและผันผวนอย่างต่อเนื่องจากผลของหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ นโยบายด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป การปรับสมดุลเป้าหมายทางเศรษฐกิจของจีน และทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลก แต่เวียดนามกลับเป็นประเทศที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าในปี 2559 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 6.2 ลดลงจากปี 2558 ที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 6.7

         การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามได้แรงส่งจากภาคการผลิตและการส่งออกที่แข็งแกร่ง รวมถึงสินเชื่อในประเทศที่โตต่อเนื่องและการฟื้นตัวของภาคเกษตรที่เคยได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นปีได้บรรเทาลง การส่งออกยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องจากการที่สินค้าส่งออกของเวียดนามสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกเนื่องจากต้นทุนค่าแรงที่ถูก สินค้ามีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากการยกเลิกการผลิตมือถือรุ่น Galaxy Note 7 ของบริษัทซัมซุงจากปัญหาแบตเตอรี่ระเบิดก็ตาม

         นักวิเคราะห์จาก the Economist Intelligence Unit หรือ EIU ได้คาดการณ์สถานการณ์ ในปี 2560 ของเวียดนาม ดังนี้

         1) พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามยังคงมีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ แม้จะมีการแบ่งแยกทางด้านนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศ เจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติงานที่รวดเร็วภายใต้การชี้นำของรัฐบาลอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างความไว้วางใจในหมู่ประชาชนและรักษาเสถียรภาพทางการเมือง

         2) เวียดนามจะยังคงดำเนินการขยายความสัมพันธ์กับต่างประเทศแบบรอบด้าน เพื่อถ่วงดุลประเทศจีนในสถานการณ์ทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และรัสเซีย ทัศนคติที่รุนแรงต่อการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์เวียดนาม-สหรัฐฯ นอกจากนี้ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในเวียดนามและความสัมพันธ์ของเวียดนามกับรัสเซียยังมีผลกระทบน้อยมากต่อความสัมพันธ์เวียดนาม-สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์

         3) รัฐบาลยังคงดำเนินการปรับโครงสร้างภาคการธนาคารและรัฐวิสาหกิจต่อไป (เนื่องจากระดับหนี้เสียยังอยู่ในระดับสูง) นอกจากนี้ รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการค้าโดยให้ความสำคัญต่อการทำข้อตกลงด้านการค้าระดับทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อรักษาศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ

         4) ดุลงบประมาณของเวียดนามยังคงอยู่ในสภาวะขาดดุลเนื่องจากการลดอัตราภาษีทางการค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของรัฐบาลและค่าใช้จ่ายในรัฐสวัสดิการที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การขาดดุลงบประมาณดังกล่าวจะค่อย ๆ ลดลงจากร้อยละ 4.3 ของ GDP ในปี 2559 เป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2564

         5) อัตราการขยายตัวของ GDP จะเพิ่มสูงขึ้นในปี 2560 – 2561 โดยเฉลี่ยร้อยละ 6.7 ต่อปี หลังจากที่ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 6.2 ในปี 2559 ทั้งนี้ เวียดนามอาจจะต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2562 – 2563 โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสหรัฐ การฟื้นตัวในระดับปานกลางในปี 2564 จะช่วยให้อัตราการเติบโตในปีนั้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.5

         6) เวียดนามจะได้รับประโยชน์จากการโยกย้ายฐานการผลิตเพื่อการส่งออกของประเทศจีน ปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าสำหรับการส่งออกในเวียดนามมาจากความมีเสถียรภาพทางการเมืองและการเข้าไปมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าที่สำคัญ

         7) ดัชนีราคาผู้บริโภคจะเติบโตขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4.4 ต่อปี (ปี 2560 – 2564) ผลกระทบจากการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก เงินด่องที่อ่อนค่าลงและแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารแห่งชาติเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดในปลายปี 2560

         8) ในช่วงปี 2560 – 2564 มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากความต้องการจากภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่สม่ำเสมอ ประสิทธิภาพในการผลิตมีการเจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง ด้วยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมการส่งออกที่ไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามจะกลับเข้าสู่ภาวะขาดดุลในปี 2560 ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553 อันเป็นผลมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น

         นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้คาดการณ์เศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2560 ว่า จะยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.2 โดยยังคงได้รับแรงส่งหลักจากการบริโภคภายในจากการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง การฟื้นตัวของภาคการเกษตร ภาคการผลิตและการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงตามลำดับจากการผลักดันการปฏิรูปและแก้ปัญหาหนี้เสียของธนาคารกลางเวียดนาม อย่างไรก็ตาม IMF ได้เตือนให้รัฐบาลเวียดนามดำเนินนโยบายการคลังที่รอบคอบและไม่ใช้จ่ายเกินตัว เนื่องจากมีปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงกว่าร้อยละ 60 ของ GDP ควรมีการกำหนดมาตรการดูดซับสภาพคล่อง (sterilization) ส่วนเกินในระบบที่เหมาะสมเพื่อให้เงินไหลเข้าก่อให้เกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจในระยะยาว และเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

บทวิเคราะห์
         เวียดนามเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2529 เป็น 176.63 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2559 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2560 ความสำเร็จดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจจากระบบการวางแผนจากส่วนกลางไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด ภายใต้นโยบาย "โด่ยเหมย” (Doi Moi) ตั้งแต่ปี 2529 การปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศส่งผลให้เวียดนามมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการค้า จากการใช้กลยุทธ์การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสด้านการค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบในประเทศ เพื่อลดข้อจำกัดทางการค้าและเปิดเสรีด้านการลงทุนมากขึ้น

         นอกจากนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันยังมีนโยบายกระตุ้นการขยายตัวด้านเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสูงควบคู่กับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่แผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี (2559-2563) ควบคู่ไปกับการพัฒนาเชิงสถาบัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนและบทบาทของเอกชนในรัฐวิสาหกิจ การบูรณาการกับเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามได้ใช้มาตรการเพื่อเพิ่มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างเข้มงวดเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการให้มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจร้อยละ 6.7 ในปี 2560 และควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าร้อยละ 4 โดยดำเนินนโยบายที่มุ่งเน้นการยกระดับผลผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ ตลอดจนผลักดันการปฏิรูปการลงทุนภาครัฐให้เป็นบริษัทหุ้นส่วนปรับโครงสร้างงบประมาณและหนี้สาธารณะ ออกมาตรการป้องกันและปราบปราบการคอรัปชั่น การรั่วไหลด้านเงินทุนและทรัพย์สินของรัฐ การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งให้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนให้กลายเป็นหน่วยงานแกนหลักของเศรษฐกิจในอนาคต และส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ

         ดังนั้น ทิศทางเศรษฐกิจในปี 2560 ของเวียดนามจึงน่าจะเป็นไปตามการคาดการณ์ของ EIU และ IMF -3- ทั้งนี้ เวียดนามอาจจะได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนตัวจากความตกลง Trans-Pacific Partnership หรือ TPP จากการที่เวียดนามจะได้เข้าถึงตลาดสหรัฐฯ โดยไม่มีกำแพงภาษีในเกือบทุกหมวดสินค้า และเงินลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เวียดนามอาจจะได้รับประโยชน์จากนักลงทุนจีนที่กำลังหาแหล่งพื้นที่สำรองเพื่อรักษาต้นทุนการผลิตให้ต่ำโดยการโยกย้ายฐานการผลิตเพื่อการส่งออกมายังประเทศเศรษฐกิจ ตลาดบุกเบิกใหม่ (Frontier Market) โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งเวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการโยกย้ายฐานการผลิตดังกล่าว เนื่องจากมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น ความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจมหภาคและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีแนวโน้มพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ปัจจุบันเวียดนามยังมีข้อตกลงการค้ากับประเทศอื่น ๆ และหลายฉบับมีผลบังคับใช้กับกลุ่มมหาอำนาจ อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสมากมายให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยผลักดันการส่งออกของเวียดนามอีกทางหนึ่ง

         เวียดนามเป็นพันธมิตรที่สำคัญของไทยทั้งในกรอบอาเซียนและในเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งยังเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7 ในโลก โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) การค้าระหว่างไทยกับเวียดนามมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 11,170.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.83 ต่อปี โดยในปี 2559 การค้ารวมไทย-เวียดนาม มีมูลค่า 13,852.71 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.91 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามูลค่า 5,003.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีประชากรอยู่ในวัยแรงงาน จำนวนมาก ความมีเสถียรภาพทางการเมืองและการมีสิทธิพิเศษสำหรับการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ โดยในปี 2559 (ม.ค. – พ.ย.) มีมูลค่า FDI เท่ากับ 18,103 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สาขาที่ได้รับการลงทุนมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตและการประมง อสังหาริมทรัพย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีเกาหลีใต้ลงทุนมากที่สุด ตามด้วยสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน ส่วนการลงทุนของไทยอยู่ในอันดับที่ 9

         เพื่อส่งเสริมและรักษาผลประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุนของไทยในเวียดนาม ไทยจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับเวียดนามในรูปแบบของการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ที่ทั้ง 2 ฝ่าย ได้รับประโยชน์ โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ และภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ผ่านการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการลงทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายในหลายมิติ ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาแรงงาน การพัฒนาสินค้าเชิงนวัตกรรม และนำไปสู่การแสวงหาตลาดที่สามร่วมกัน นอกจากนี้ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของเวียดนามเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเวียดนามที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยใช้ความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีการผลิตวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางในกลุ่มสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยพร้อมให้การสนับสนุนตามนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งเป็นนโยบายที่ผลักดันอุตสาหกรรมแห่งอนาคตซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เพื่อเป็นการรักษาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกอีกทางหนึ่งด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.aseanthai.net
         

Share