ประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจได้ง่ายที่สุดในอาเซียน
05 กรกฎาคม 2560
บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation–IFC) ซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินในเครือของธนาคารโลก (world bank group) ได้จัดทำรายงานการเข้าไปทำธุรกิจ (Doing Business) เพื่อแสดงความยากง่ายในการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ.2547) โดยกำหนดเกณฑ์ในการพิจารณาความยากง่ายในการเข้าทำธุรกิจตามองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่
1. ความง่าย (easier) ในการดำเนินการ
2. ความรวดเร็ว (faster) ในการดำเนินการ
3. การมีค่าใช้จ่ายต่ำ (cheaper) ในการดำเนินการ
4. การมีกฎ ระเบียบ ที่เอื้ออำนวย (smarter regulations) ต่อการดำเนินการ
เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น การสำรวจข้อมูลในแต่ละประเทศจึงได้กำหนดตัวชี้วัดในด้านต่างๆ ว่า มีตัวชี้วัดใดบ้างที่สะท้อนถึงความง่าย ความรวดเร็ว การมีค่าใช้จ่ายต่ำ และการมีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ โดยในรายงานฉบับล่าสุด คือ Doing Business 2016 ได้กำหนดตัวชี้วัดให้ครอบคลุมกระบวนการตั้งแต่เริ่มจัดตั้งธุรกิจไปจนถึงเลิกกิจการไว้ 11 ตัวชี้วัด ได้แก่
1. การเริ่มต้นธุรกิจ (starting a business)
2. การขออนุญาตก่อสร้าง (dealing with construction permits)
3. การได้ไฟฟ้าใช้ (getting electricity) 4. การจดทะเบียนทรัพย์สิน (registering property)
5. การได้รับสินเชื้อ (getting credit) 6. การคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย (protecting minority investors)
7. การจ่ายภาษี (paying taxes)
8. การค้าระหว่างประเทศ (trading across borders)
9. การบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา (enforcing contracts)
10.การแก้ปัญหาการล้มละลาย (resolving insolvency)
11.การควบคุมตลาดแรงงาน (labor market regulation)
ผลการจัดอันดับประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจได้ง่ายที่สุดในกลุ่มอาเซียน ตามรายงาน Doing Business ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) ซึ่งมีการรับรองข้อมูลถึงเดือน มิถุนายน ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) เป็นดังตาราง
จากตารางจะเห็นว่า สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มักจะอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกในแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ความสามารถในการแข่งขัน และอื่นๆ แล้ว สิงคโปร์ยังเป็นประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจได้ง่ายที่สุดอีกด้วย
ในทำนองเดียวกันกับประเทศไทย ที่เมื่อนำผลการสำรวจในด้านต่างๆ เทียบกับประเทศในอาเซียนแล้วมักจะอยู่ในอันดับที่ 3 - 4 อยู่เสมอแล้ว ในด้านความง่ายของการเข้าทำธุรกิจประเทศไทยก็อยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนเช่นกัน
ข้อสังเกตประการหนึ่งจากข้อมูลในตารางก็คือ ถึงแม้ว่าในช่วง 2 - 3 ปีมานี้จะมีการกล่าวถึงโอกาสในการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงกับประเทศไทยกันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเวียดนามและเมียนมา แต่จะเห็นว่าทั้งสองประเทศยังเข้าไปทำธุรกิจได้ยากกว่าประเทศไทย นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าจะมีนักลงทุนจากทั่วโลกจะให้ความสนใจกับการเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็ตาม แต่จริงๆ แล้วการเข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่ายเลย
อย่างไรก็ตามในการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับความง่ายในการเข้าไปทำธุรกิจในครั้งนี้ ไม่ได้รวมถึงปัจจัยบางด้านเข้าไปในการสำรวจนี้ด้วย ได้แก่
1. เสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค (macroeconomic stability)
2. สถานะของระบบการเงิน (state of financial system)
3. ระดับทักษะและการฝึกอบรมกำลังแรงงาน(level of training and skills of the labor force)
4. การแพร่ระบาดของสินบนและการทุจริต (prevalence of bribery and corruption)
5. ขนาดของตลาด (market size)
6. ความปลอดภัย (security)
จากการสำรวจที่ไม่ครอบคลุมปัจจัย 6 ด้านดังกล่าว สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจที่จะเข้าไปทำธุรกิจในประเทศอาเซียน นอกจากจะใช้ข้อมูลนี้เป็นแนวทางแล้วจึงน่าจะใช้ข้อมูลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศในอาเซียนประกอบด้วย เนื่องจากจะครอบคลุมตัวแปรบางตัว เช่น สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค การพัฒนาตลาดเงิน ขนาดของตลาด และอื่นๆ ที่ Doing Business ไม่ได้กล่าวถึง
ขอบคุณข้อมูลจาก: www.aseanthai.net