7 องค์กรอสังหาฯ
03 มกราคม 2568
7องค์กรอสังหาเครื่องร้อน! ชงแพกเกจเร่งฟื้นธุรกิจเตรียมยื่น‘นายกฯ-ธปท.’
.
‘7องค์กรอสังหา’เครื่องร้อน!ชงแพกเกจเร่งฟื้นธุรกิจเตรียมยื่นมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์‘นายกฯแพทองธาร ชินวัตร-ธปท.’ ในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อเร่งกระตุ้นตลาด ผ่านมาตรการเดิมที่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ทันที
.
เป็นอีกปีที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องเผชิญกับภาวะยากลำบาก! ผู้ประกอบการต้องตั้งรับสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว และยังคงเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนสูง! กดดันการใช้จ่ายอย่างหนักโดยเฉพาะสินทรัพย์คงทนอย่าง “ที่อยู่อาศัย” ขณะที่สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อเช่นเดิม กระทบตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซาต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยบวกมีเพียงเล็กน้อย โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัว 2.3-3.3% จากการใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนของภาคเอกชน การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออก แต่ “การท่องเที่ยว” เป็นเพียงเครื่องยนต์เดียวเท่านั้นที่ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี!
ล่าสุด 7 องค์กรอสังหาริมทรัพย์เตรียมยื่นมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาอีกรอบภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อเร่งกระตุ้นตลาด ผ่านมาตรการเดิมที่สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ทันที อาทิ การลดค่าโอนจำนอง รวมทั้งพิจารณา ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 50% ที่สำคัญการทบทวนหรือยกเลิกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ แอลทีวี (LTV : Loan-to-value ratio)
อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย คณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย เตรียมยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ พิจารณามาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ประกอบด้วย การต่ออายุมาตรการเดิม ได้แก่ 1.มาตรการลดค่าจดทะเบียนโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ซึ่งสิ้นสุดเมื่อ 31 ธ.ค.2567 ขอต่ออายุอีก 1 ปี ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อกระตุ้นตลาดต่อเนื่อง 2.การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี จึงอยากรัฐบาลช่วยลดภาระภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งอัตราภาษี “ล้านละ 3,000 บาท” ถือว่าสูงมาก
.
3.พิจารณามาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย-ปานกลาง ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หรือธนาคารออมสิน ในกลุ่มบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท และกลุ่มไม่เกิน 7 ล้านบาท 4.ขอให้ช่วยประสานกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง แก้ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่องกำหนดนโยบายการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและพาณิชยกรรม โดยขอให้ลดขนาดที่ดินของโครงการจัดสรรให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ขนาดครอบครัว ราคาที่ดิน ค่าก่อสร้าง เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยการลดขนาดที่ดินบ้านเดี่ยวจากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 50 ตารางวา เป็นไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา บ้านแฝด จากที่ดินไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา เป็นไม่ต่ำกว่า 28 ตารางวา และทาวน์เฮาส์ จากที่ดินไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา เป็นไม่ต่ำกว่า 14 ตารางวา
นอกจากนี้ 7 องค์กรอสังหาริมทรัพย์ ได้แยกยื่นหนังสือให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกเลิกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ แอลทีวี เป็นการชั่วคราว เพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มคนที่มีกำลังซื่้อ ต้องการซื้อบ้านหลังที่ 2 และ 3
"จากประสบการณ์ในปี 2565 ที่มีการยกเว้นมาตรการแอลทีวี ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะธนาคารยังคงเข้มงวดการยื่นกู้ สะท้อนจากจำนวนการถูกปฏิเสธิสินเชื่อที่สูง 60-70% และมาตรการที่เสนอในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ส่วนใหญ่เป็นของเดิม ขณะที่การขยายระยะเวลาเช่า 30 ปี เป็น 90 ปี และโควตาต่างชาติซื้อคอนโดมิเนียมจาก 49% เป็น 75% นั้นไม่ได้เสนอเพิ่มไปเพราะถือว่าเสนอไปแล้ว”
ทั้งนี้ อยากเห็นมาตรการใหม่จากรัฐบาลที่ออกมากระตุ้นกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของประชาชน เช่น เฟส 3 เงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ “รถไฟฟ้า 20 บาท” ทุกสีทุกสาย หรือ บ้านเพื่อคนไทย
สอดคล้องกับ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า อสังหาริมทรัพย์ปี 2568 ยังต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ
“เราเผชิญพายุมาหลายระลอก ส่งผลกระทบต่อภาวะหนี้ครัวเรือนสูง ยอดรีเจกต์เรตสูงถึง 70% ผู้บริโภคเกิดความไม่เชื่อมั่น กระทบต่อการใช้จ่าย ทำให้ยอดขายตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2567 ติดลบ 25-30% และยอดโอนกรรมสิทธิ์ติดลบ 7-8% ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะส่งผลดีเกี่ยวเนื่องไปยังหลากหลายธุรกิจ”
โดยเฉพาะมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ถือเป็นมาตรการพื้นฐานที่ต้องมี! เพราะมีผลทางจิตวิทยากับผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อ การยกเลิกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยชั่วคราว เพื่อกระตุ้นให้ตลาดฟื้นตัว
"มาตรการแอลทีวี เป็นอุปสรรคต่อการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งแบงก์ชาติควรยกเลิกมาตรการดังกล่าวเป็นการชั่วคราว 2 ปี"
นอกจากนี้ ควรลดดอกเบี้ยนโยบายและลดดอกเบี้ยที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมา ดอกเบี้ยนโยบาย ลงมาอยู่ที่ 2.25% แต่ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินลดจริงอยู่ที่ระดับ 0.12% ซึ่ง “ไม่เหมาะสม” ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจยากขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจโตต่ำ ไม่มีเงินลงทุน เพราะสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรุงเทพธุรกิจ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bangkokbiznews.com/property/1160374