ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์

  • Projects
  • News
  • Property
  • How to

ผังเมืองกทม. ขีดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่บูมทำเลทอง

18 มกราคม 2567

ผังเมืองกทม. ขีดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่บูมทำเลทอง

ขณะการวิเคราะห์ของ “พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ”  บริษัทวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่ระบุว่า  ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) มีประเด็นที่น่าสนใจ คือเรื่องของโครงการคมนาคม และการขนส่งที่มีแผนผังแสดงแนวเส้นทางชัดเจนในแผนผังฉบับนี้จะมีการแสดงให้เห็นถึงแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่เป็นแผนการพัฒนาในอนาคตและถนนเส้นทางต่างๆ

ที่อยู่ในแผนการพัฒนาของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่นๆ หรือที่มักจะเรียกกันในแรกๆ ว่าถนนผังเมืองซึ่งเรื่องของเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนการพัฒนานั้น มีทั้งส่วนต่อขยาย และเส้นทางใหม่ที่ยังไม่เริ่มการก่อสร้างโดยเส้นทางที่น่าสนใจ คือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (หัวลำโพง- ปากท่อ) หรือเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงเข้มเพราะเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่ล่าสุดเปลี่ยนแนวเส้นทางไปจากเดิม

โดยเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มเป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่และมีการเปลี่ยนแนวเส้นทางจากเดิมจะใช้เส้นทางรถไฟปัจจุบันที่วิ่งจากสถานีวงเวียนใหญ่ไปยังสถานีมหาชัย แต่แนวในร่างผังเมืองรวม เปลี่ยนไปใช้แนวถนนอินทรพิทักษ์ และถนนเทอดไท จากนั้นเข้าถนนวุฒากาศ แล้วใช้ถนนเอกชัยยาวไปถึงสถานีปลายทาง โดยเส้นทางช่วงตั้งแต่หัวลำโพงมาถึงก่อนที่จะเข้าถนนเอกชัยเป็นโครงสร้างใต้ดินตลอดเส้นทางซึ่งถือว่าดีเพราะถนนเทอดไทมีขนาดเขตทางค่อยข้างแคบซึ่งนึกภาพไม่ออกว่าถ้าสร้างรถไฟฟ้าแบบโครงสร้างบนดินจะทำได้อย่างไร

เช่นเดียวกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีฟ้า (ดินแดง - สาทร) เชื่อว่าบางคนอาจจะไม่เคยได้ยินหรือรับรู้มาก่อนถึงเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าระยะทางสั้นๆ รวมแล้วประมาณ 9.5 กิโลเมตร และมีสถานีทั้งหมด 9 สถานีเท่านั้น

โดยเส้นทางนี้เริ่มต้นจากสถานีประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม และแนวเส้นทางลงมาทางทิศใต้ตามแนวถนนประชาสงเคราะห์ ผ่านเคหะชุมชนดินแดง แยกประชาสงเคราะห์ จุดตัดถนนดินแดงจากนั้นยกระดับข้ามทางพิเศษศรีรัชบริเวณบึงมักกะสัน เข้าสู่พื้นที่ของศูนย์คมนาคมมักกะสัน โดยวิ่งไปทางทิศตะวันออกตามแนวเขตทางที่เตรียมไว้สำหรับระบบรางเดี่ยวภายในศูนย์คมนาคมมักกะสัน ผ่านสถานีมักกะสัน

จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนอโศก-ดินแดง และเลี้ยวขวาอีกครั้งที่แยกอโศก-เพชรบุรี เข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี ผ่านแยกมิตรสัมพันธ์ จุดตัดถนนนิคมมักกะสัน และซอยนานาเหนือ ยกระดับข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วนเพชรบุรี เลี้ยวซ้ายที่แยกวิทยุ-เพชรบุรีเข้าสู่แนวถนนวิทยุลงมาทางทิศใต้ ผ่านแยกเพลินจิต แยกถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนสาทรไปสิ้นสุดที่แยกช่องนนทรีใกล้สถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี เป็นเส้นทางสั้นๆ แต่ผ่านจุดสำคัญ และสามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นๆ หลายเส้นทาง

ทั้งสายสีส้มที่สถานีประชาสงเคราะห์ สายสีนํ้าเงิน แอร์พอร์ตเรลลิงก์  และสายสีแดงอ่อนที่สถานีมักกะสัน สายสีเขียว (สุขุมวิท) ที่สถานีเพลินจิต สายสีนํ้าเงินที่สถานีลุมพินี และสายสีเขียว (สายสีลม) ที่สถานีช่องนนทรี จากข้อมูลล่าสุดอยู่ในระหว่างการยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ถ้าสามารถทำได้ตามที่วางแผนไว้คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี2572

เส้นทางรถไฟฟ้าอีกหนึ่งเส้นทางที่มีการเปลี่ยนแปลงเส้นทาง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเผยแพร่แนวเส้นทางใหม่มาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่ชัดเจน ซึ่งเมื่อแนวเส้นทางเข้าไปอยู่ในแผนผังแสดงโครงการคมนาคม และการขนส่ง ในร่างผังเมืองรวมซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเทา (วัชรพล-ท่าพระ)จะเปลี่ยนจากแนวเส้นทางเดิมที่จากถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาทร และเลี้ยวซ้ายอีกครั้งเพื่อเข้าถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มาจนถึงถนนพระรามที่ 3 โดยเปลี่ยนแนวเส้นทางจากถนนพระรามที่ 4 แล้วเลี้ยวซ้ายมาทางห้าแยก ณ ระนองเข้าสู่ถนนพระรามที่ 3 ทันที 

โดยไม่ไปถนนพระรามที่ 4 ถนนสาทร และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนเกิดคำถามว่าเปลี่ยนแนวเส้นทางเพื่อเหตุผลใด ทั้งที่หลายคนมองว่า เส้นทางถนนพระรามที่ 4 ถนนสาทร และถนนนราธิวาสราชนครินทรนั้นดีอยู่แล้วแต่ถนนสาทรช่วงตั้งแต่ถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกช่องนนทรี ปัจจุบันอาจจะยังไม่มีเส้นทางรถไฟฟ้า

 สำหรับแนวเส้นทางเดิมอยู่ในความดูแลของกทม.มีรูปแบบเป็นระบบรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยวแนวเส้นทางจะแบ่งออกเป็นสองช่วงแยกขาดจากกัน ช่วงแรกมีจุดเริ่มต้นที่จุดเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้า สายสีชมพู  ที่สถานีวัชรพล จากนั้นมุ่งลงใต้ตามแนวถนนประดิษฐ์มนูธรรมเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีลาดพร้าว 83 เชื่อมต่อกับ สายสีส้มที่สถานีวัดพระราม 9 จากนั้นข้ามเส้นทาง รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วง Missing Link บางซื่อ-หัวหมาก เพื่อเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนเพชรบุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าซอยสุขุมวิท 55 (ซอยทองหล่อ) เพื่อสิ้นสุดเส้นทางช่วงแรกที่ สถานีทองหล่อ

อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสุขุมวิท และช่วงที่สองมีจุดเริ่มต้นที่รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท สถานีพระโขนงจากนั้นมุ่งลงใต้ตามแนวถนนพระราม4  เชื่อมต่อกับ MRT ใต้ดิน สีนํ้าเงิน ที่ สถานีศูนย์ การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สถานีคลองเตย และ สถานีลุมพินี แล้วเบี่ยงซ้ายเข้าสู่ถนนสาทรไปเชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีช่องนนทรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายวิ่งตามแนวของรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร-ราชพฤกษ์ ที่จะยกเลิกโครงการเมื่อมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาไปจนถึงปลายทางสถานีราชพฤกษ์

อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลมอีกจุดหนึ่งที่ สถานีตลาดพลู แล้วมุ่งหน้าขึ้นทางเหนือตามแนวถนนรัชดาภิเษกไปสิ้นสุดที่ สถานีท่าพระอันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลอีก 1 จุดระยะทางรวมประมาณ 40 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มตามแนวผังเมืองรวมกทม.(ปรับปรุงครั้งที่4)สายสีเทา สายสีฟ้า

การวางและจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่4)  เดิมมีเป้าหมายปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนสิ้นสุดภายใน วันที่22 มกราคม2567 แต่เนื่องจากมีประชาชน และองค์กรหลายภาคส่วน ออกมาคัดค้าน ในหลายประเด็น และท้วงติงว่าการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนสั้นเกินไป และอาจเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ได้มากขึ้นโดยเฉพาะในซอยแคบ สะท้อนจากการกำหนดแนวถนนตามผังเมืองรวม  และอาจนำมาซึ่งการเวนคืนขยายเขตทางในอนาคต ซึ่งเกรงว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบ

ดังนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) มีนโยบายขยายเวลาการรับฟังความคิดเห็นประชาชนออกไปจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อรวบรวมเสียงสะท้อนที่ได้นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ได้ผังเมืองรวมที่ดีที่สุดต่อไป และคาดว่าจะเร่งประกาศใช้ได้ประมาณกลางปีหรือปลายปี 2568


สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่การพัฒนาที่เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ของร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ เกิดจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีรถไฟฟ้าเกิดขึ้นในหลายเส้นทางทั้งเปิดให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง ยังไม่รวมแผนในอนาคตที่มีเป้าหมายให้กทม.เป็นมหานครระบบราง มีเป้าหมายให้ประชาชน อยู่อาศัยและเดินทางโดยรถไฟฟ้าเข้าถึงแหล่งงาน เพื่อแก้ปัญหารถติด และมลพิษทางอากาศ 

 นายอิสระ บุญยัง  ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ต้องยอมรับว่าร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นซึ่งเป็นบวกต่อภาคเอกชน  และต้องเห็นใจประชาชนที่มีความกังวลว่าอาจเกิดผลกระทบหากมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นในซอยหรือ บริเวณชุมชน แต่ตามข้อเท็จจริงโดยส่วนตัวมองว่า ผังเมืองรวม ที่ใช้มาถึงปัจจุบัน คือปี 2556 ไม่มีการปรับปรุงมาเป็นเวลา11ปี  ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเมืองจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงข่ายถนน รถไฟฟ้า ที่รัฐใช้งบลงทุนค่อนข้างสูง

ดังนั้น การปรับผังเมืองจึงมุ่งเน้น ให้ประชาชนอยู่อาศัยและเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้สมกับงบประมาณที่รัฐลงทุนไปเพื่อดึงคนจำนวนมากเข้าสู่ระบบราง และเห็นด้วยกับการพัฒนาคอนโดมิเนียมในซอย ที่สามารถเดินออกมาแล้วเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแต่ต้องเป็นขนาดเขตทางที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

เช่นเดียวกับนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินราคาที่ดินและวิเคราะห์การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มองว่าผังเมืองรวมใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เนื่องจากปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น ทำให้เกิดทำเลทองใหม่หลายพื้นที่ และผลักดันให้ราคาที่ดินขยับขึ้นในหลายทำเลทั้งนี้หากผังเมืองรวมประกาศใช้ และตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่ในช่วงขาขึ้น ประเมินว่าราคาที่ดินจะขยับขึ้นหลายเท่าตัวโดยเฉพาะโซนที่มีการปรับเปลี่ยนสีผัง

 

ขอบคุณข้อมูล  :  https://www.thansettakij.com/real-estate/586041

Share